ผนึกกำลังพัฒนาระบบสารสนเทศ ดูแลนักเรียนฐานะยากจนครบทุกมิติ - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Thursday, March 25, 2021

ผนึกกำลังพัฒนาระบบสารสนเทศ ดูแลนักเรียนฐานะยากจนครบทุกมิติ


    
สพฐ.-กสศ. และ ม.นเรศวร ร่วมผนึกกำลังพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อดูแลนักเรียนฐานะยากจนครบทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ ครอบครัว สังคมและพฤติกรรม พร้อมสร้างพื้นที่ต้นแบบใน 22 เขตการศึกษา ก่อนเตรียมเริ่มใช้งานโดยทั่วไปภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564


    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมสร้างความเข้าใจการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาต้นแบบ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 22 จังหวัดร่วมประชุม ซึ่ง ”ระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียน” นี้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้บุคลากรทางการศึกษาได้ประเมินและคัดกรองเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นปัจจัยการพิจารณาข้อมูลในการรับทุนการศึกษา ที่ช่วยลดภาระของครอบครัวที่ยากจน และเด็กทุกคนยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาโดยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านของสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว สุขภาพกาย สุขภาพจิต ข้อมูลด้านพฤติกรรม รวมถึงการประเมินภาวะด้านอารมณ์หรืออีคิว

    ดร.สายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทราบถึงพฤติกรรมเชิงลึกของนักเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต้องดูแลอย่างไร และเขตพื้นที่การศึกษาได้รับทราบข้อมูลของนักเรียนไปจนถึงครอบครัวอย่างรอบด้าน ทุกมิติ ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงจากการเดินทาง ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของเด็กนักเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือเด็กได้ พร้อมกันนี้ยังทำให้เกิดการวางแผนแก้ไขปัญหาที่มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    “การประชุมในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจการนำระบบสารสนเทศ ในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนร่วมกัน ถึงแม้บางโรงเรียนมีระบบที่ใช้กันอยู่แล้วก็ตาม แต่จำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลเป็นข้อมูลกลางที่ทุกฝ่ายใน สพฐ. เข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือต่อกันได้ และจะเป็นการเรียนรู้ของบุคลากรทางการศึกษาร่วมกันว่าระบบสารสนเทศที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือนักเรียนเป็นอย่างไร เมื่อได้ทดลองทำการลงข้อมูลแล้วมีข้อคิดเห็นอย่างไร พร้อมเก็บข้อมูลเพื่อไปปรับปรุงพัฒนาระบบ และคาดว่าภายในช่วงปลายปีการศึกษา 2564 อาจจะมีการเปิดระบบนี้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสิ่งที่ดำเนินงานต่อจากนี้จะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในวันนี้จากบุคลากรทางการศึกษาทุกคน” ดร.สายพันธุ์ กล่าว


    
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กล่าวถึงการทำงานของ กสศ. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนไทยว่า แม้ว่าหน่วยงานนี้จะได้รับการจัดตั้งมาในปี 2561 หรือเกือบ 3 ปี แต่สิ่งที่ได้เห็นคือ การทำงานที่จริงจัง เกิดเห็นผลเป็นรูปธรรม และสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่มีความยากจนได้มาก อีกทั้ง ในการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น มองว่า เรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด คือการให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา แต่การศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่การเข้ามาเรียนในโรงเรียนและจบไปตามช่วงชั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือหากไม่เห็นสภาพความเป็นจริงของเด็ก ก็จะไม่สามารถป้อนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กได้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นควรจะเป็นไปในรูปแบบของการคัดกรอง ตามระบบ ให้เกิดการดูแลช่วยเหลือตามระบบของโรงเรียนและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเด็กนักเรียนต่อไป


    
“โครงการระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่ร่วมมือกับ กสศ. และมหาวิทยาลัยนเรศวร เห็นได้ว่าตัวแทนสำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียน แม้แต่ครู น่าจะมีความพึงพอใจ เพราะไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระมากเกินไป ซึ่งจากเดิมที่ทำด้วยกระดาษหรือวิธีอื่น แต่ได้มาทำผ่านแอปพลิเคชั่นเว็บ เข้าถึงได้ง่าย เพราะครูทั้งหมดก็มีเครื่องมือโมบายล์ในการดูแลอยู่แล้ว แต่ซึ่งสิ่งที่อยากฝากไปยังบอร์ด กสศ.คือ อยากให้นำโครงการนี้ไปใช้ในทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุด ไม่ควรมีการนำร่องนาน เพื่อไม่ให้มีการทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง และสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของเด็กได้อย่างแท้จริง ดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง” รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าว

    ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ ผ่านมาจากการทำงานเยี่ยมบ้านของนักเรียนตามระบบการคัดกรองเด็กยากจนอย่างมีเงื่อนไขหรือ CCT ทำให้มีข้อมูลคุณภาพที่สูงขึ้น ได้เห็นสภาพปัญหาครอบครัวที่แท้จริง ซึ่งทำให้ได้เห็นว่ามิติของการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนยากจน ไม่ได้มีปัจจัยมาจากมิติของเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียว แต่การจะลดความเสี่ยงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จะต้องขยายฐานการให้ความช่วยเหลือดูแลเชื่อมโยงกับระบบการคัดกรองให้เป็นระบบเดียวกันครบทุกมิติ ให้ครูได้รับทราบถึงปัญหาความยากจนของเด็กพร้อมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆไปในครั้งเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ผู้ปกครองจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงแก่ครู เพื่อให้ครูจะนำไปดูแลนักเรียนในโรงเรียนเป็นรายคน สามารถปิดช่องโหว่และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน แต่หากเกินกำลังที่โรงเรียนหรือครูจะดูแลได้ ก็นำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสุขภาพ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือนักเรียนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางต่อไป ดังนั้นการพัฒนาความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือกับเด็กนักเรียนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น


   
"การทำงานของ กสศ. กับ สพฐ. และมหาวิทยาลัยนเรศวรครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักสูงสุดร่วมกันคือ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเด็กหลายคนมีความตั้งใจการเรียนมาก แต่ก็ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจต้องมาเป็นเสาหลักของครอบครัว มาดูแลสมาชิกในบ้านที่อาจจะป่วยติดบ้านหรือติดเตียง หรือผู้ปกครองอยู่ภาวะที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ เพื่อปลดพันธนาการต่างๆให้กับเด็กได้มีสมาธิและตั้งใจกับการเรียนอย่างเต็มที่ และจะให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป ช่วยให้มีกำลังใจในการศึกษาที่ไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งระบบนี้ก็จะเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบให้มีการขยายร่วมมือกับกระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่นำไปใช้ในโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือโรงเรียนเอกชน เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ร่วมกันด้วย" ดร.ไกรยศ กล่าว

    ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบสารสนเทศที่เข้ามาใหม่ จะช่วยการทำงานของครูในสองประเด็น คือ 1. ระบบนี้มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นของ สพฐ. และ กสศ. เช่น CCT หรือ DMC ให้เข้ามาในระบบ ทำให้ครูไม่ต้องกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนสามารถดึงข้อมูลเดิมมาได้ทันที 2. คือระบบการทำงานเดิมไม่มีระบบสารสนเทศ ที่รวบรวมมาจากโรงเรียนต่าง ๆได้เลย หากมีข้อมูลนี้จะทำให้การรวบรวมข้อมูลสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประโยชน์จะเกิดขึ้นที่ตัวเด็กนักเรียน เพราะเป็นระบบที่ครูจะมีข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่จะพิจารณาความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และยังมีระบบการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังความเสี่ยง หากเด็กนักเรียนขึ้นสัญลักษณ์สีแดงก็เป็นการเตือนได้ว่าครูจะเข้าไปหาเด็กนักเรียนคนไหน และสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเห็นได้จนถึงเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะทำให้พิจารณาในการให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนได้ด้วยเช่นกัน


    
อย่างไรก็ตามได้วางไทม์ไลน์กระบวนการไว้โดยคร่าวคือ ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะวางแผนให้เริ่มมีการคัดเลือกหาโรงเรียนที่สมัครใจเป็นพื้นที่นำร่อง จากนั้นในเดือนเมษายนจะเริ่มสอนไปยังเขตพื้นที่ที่สมัครและโรงเรียนที่เข้าสมัครร่วมทดลองใช้ระบบ จากนั้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะทดลองในเป็นระยะเวลาสองเดือน คาดว่าจะนำไปสู่ภาพใหญ่มีการใช้งานจริงได้ในช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้ ส่วนตัวคาดหวังว่า หากระบบนี้นำไปใช้ในทุกโรงเรียนทำเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเด็กของตนเองได้ มีการส่งข้อมูลต่อเนื่อง เก็บประวัติในทุกปี ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะสามารถเห็นประวัติเด็กอย่างต่อเนื่อง ระบบจะเข้าไปสู่ระบบสารสนเทศ และจะส่งผลไปถึงภาพรวมของประเทศที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนกำลังประสบปัญหาด้านใด เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายในภาพใหญ่ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย เพราะระบบนี้จะมีการดูแลเป็นรายบุคคล

    ส่วน ดร.วิมพ์วิภา รักสม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาจังหวัด พังงา ภูเก็ต ระนอง ระบุถึงข้อเสนอแนะจากการใช้งานระบบสารสนเทศว่า ถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งนักเรียน ที่ใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีปัญหา รวมถึงกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษาโดยไม่ทิ้งไว้ใครไว้ข้างหลัง มีประโยชน์สำหรับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาคือทำให้ได้เห็นข้อมูลในภาพรวมว่าแต่ละพื้นที่เด็กนักเรียนมีปัญหาความเสี่ยงในด้านใด เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนนั้นตรงจุดมากยิ่งขึ้น

    “ทั้งนี้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบนั้น คืออยากให้นักจิตวิทยาในระดับเขตพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกด้านของเด็กได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถจะทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับอยากให้ครูที่เป็นผู้ปฏิบัติงานได้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการใช้งานไปยังผู้พัฒนาโดยตรงมากขึ้น และสิ่งที่อยากเพิ่มเข้าไปในระบบนี้คือ อยากให้มีเพิ่มกลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษหรือเด็กที่มีความเก่งในด้านใดด้านหนึ่งเพิ่มเติมไปด้วย เพื่อให้มีความครอบคลุมพร้อมส่งเสริมการเรียนได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น” ดร.วิมพ์วิภา กล่าว

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages