ด้านเหยื่อเมาแล้วขับ วอนบังคับใช้กฎหมายเต็มที่ ชี้คนผิดซ้ำต้องติดคุกไม่รอลงอาญา ขอความเป็นธรรมให้กับเหยื่อ เพราะกว่าจะยอมรับความจริงที่ต้องพิการ และลุกขึ้นยืนสู้ชีวิตให้ได้มันหนักหนาสาหัส
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว จัดเวที สะท้อนบทเรียนชีวิตวัยรุ่น เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ห่างไกลและหลุดพ้นจากหลุมดำ หัวข้อ “จากก้าวที่พลาดพลั้ง สู่วันที่ผ่านพ้น” โดยมี นายพิโชติ พลหาญ ผู้ก่อตั้งสถานที่ท่องเที่ยว “เรือนจำดอนกุล&Restaurant” นางสาวราชาวดี ใจหงิม เหยื่อที่ต้องพิการจากคนเมาแล้วขับ นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำเยาวชนที่เคยติดหล่มยาเสพติด และนายเอ (นามสมมุติ) อดีตเยาวชนผู้เคยก้าวพลาด ร่วมเสวนา
นายสุรนาถ กล่าวว่า ตนอยู่ในครอบครัวที่ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน พ่อเป็นผู้นำชุมชนทำงานเรื่องควบคุมป้องกันปัญหายาเสพติด แม่เปิดร้านขายของชำ เนื่องจากในสังคมมีปัญหาการระบาดยาเสพติด คนรอบข้างอยู่ในแวดวงยาเสพติดทั้งเสพ และขาย ทำให้มองว่าเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องธรรมดา ช่วงวัยรุ่นจึงเริ่มเข้าสู่วงจรอย่างจริงจังด้วยการเริ่มสูบบุหรี่ จากนั้นสูบกัญชา และยาบ้าตามมา ซึ่งหาได้ง่ายมาก เสพมากขึ้นเรื่อยๆ ถลำลึกมากขึ้นและเริ่มมาเป็นผู้ค้าเพราะคิดว่าจะได้เสพยามากขึ้น แต่เหมือนตนดื้อยา เสพมากกว่าที่ขายมาได้ทำให้ร่วมกับพี่ชายเริ่มขโมยของ ขโมยเงิน จนที่บ้านระส่ำระสาย สภาพร่างกายเริ่มแย่ ทะเลาะกับ และพ่อลงโทษด้วยการตี หลังจากนั้นพ่อได้ย้ายออกไปอยู่ที่ห้วยขวางแต่พื้นที่ยังมีปัญหายาเสพติด เราจึงไม่สามารถเลิกได้ และวนเวียนกับเรื่องพวกนี้ 8-9 ปีเต็มๆครอบครัวเริ่มแย่ เป็นหนี้เป็นสิน พ่อยุติบทบาทการเป็นประธานชุมชนเพราะรู้สึกละอายที่ตัวเองทำงานป้องกันเรื่องนี้แต่กลับไม่สามารถป้องกันคนในครอบครัวได้
“ครอบครัวลำบาก ทำให้เริ่มคิดว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ครอบครัวเราอาจจะล่มสลาย จึงค่อยๆ เลิก โดยใช้เวลาราวๆ 2 ปี แต่ปีแรกทำอะไรไม่ได้ ต้องกินนอนอย่างเดียว และยังมีความคิดแว๊บอยากจะกลับไปเสพ โชคดีเราออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยมียาเสพติดแล้ว พอดีขึ้น พ่อก็กลับไปทำงานเพื่อสังคมอีก และพาเราไปทำงานด้วย ได้เห็นสิ่งที่พ่อทำ และระยะหลังๆ เริ่มช่วยงานพ่อได้ ทำให้เริ่มเห็นคุณค่าของตัวเอง และพยายามจะทำในสิ่งที่คนคนหนึ่งที่เคยเป็นคนที่ทำร้ายสังคม ให้มาเป็นคนที่คอยช่วยเหลือสังคม โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้น เช่น จากการช่วยพ่อหยิบจับของ การเล่นดนตรี และนำมาสู่การรวมกลุ่มกันเรียกร้องเรื่องกฎหมายที่จะออกมาเป็นการคุ้มครองเยาวชน จากประสบการณ์ของตัวเองมองว่า ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ทำให้ลดพื้นที่ของการพูดคุยลง ยิ่งทำให้ความรุนแรงทวีมากขึ้น ทำให้วัยรุ่นหนีปัญหา ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการพูดคุยอย่างเข้าใจ รวมถึงการให้โอกาสก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าวันนั้นสังคมไม่ให้โอกาสผมกับครอบครัวก็คงไม่มีวันนี้ วันที่ผมสามารถพิสูจน์ตัวเองได้อย่างชัดเจนแล้ว และกำลังพยายามสร้างสิ่งแวดล้อม สังคมที่ดีให้กับเพื่อนๆ และน้องๆ ของผม” นายสุรนาถ กล่าว
ด้าน นาย เอ (นามสมมุติ) กล่าวว่า ช่วงอายุ 13 ปี ที่เข้าม.ต้น ตอนนั้นเริ่มติดเพื่อน เกเร และโดดเรียน จนอายุ 15 ปี ต้องจากโรงเรียน และยังทำตัวเกเรเช่นเดิม จนอายุ 16 ปี เริ่มเสพยาเสพติด ทั้งเสพ ทั้งขาย เล่นการพนัน ติดอยู่กับเพื่อนไม่ค่อยกลับบ้าน ซึ่งตอนนี้ที่ตนอยู่เรียกว่าเป็นดงยาเสพติดเลยก็ว่าได้ แฟลตเยอะ มีสลัม คนถูกจับคดียาเสพติดเยอะ แต่ต่อมาถูกจับคดีรุมโทรม เมื่ออายุ 20 ปี ซึ่งตนไม่ได้ทำ เรามั่นใจว่าเราถูกยัดข้อหาและสู้คดีแพ้ ซึ่งตอนอยู่ในคุกเริ่มคิดย้อนกลับไปว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ทำให้พ่อแม่เดือดร้อน และได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จากการได้มาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนา ตนคิดอะไรได้หลายๆ อย่าง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวตอนอายุ 24 ปี ส่วนตัวคิดได้และไม่ได้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับมันอีก เพราะไม่อยากโดนจับอีก เพราะยาเสพติดถึงอย่างไรก็ไม่รอด ถึงวันหนึ่งมันต้องเกม ไม่ยุ่งดีกว่า มีแต่ทำให้เราติดลบ การพนันก็เลิกหมด ปัจจุบันทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ของ กทม.ว่างก็ขับจักรยานยนต์รับจ้าง ค่าตอบแทนก็เพียงพอที่เราสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ต้องขอบคุณทาง สำนักงานเขต กทม. ที่ให้โอกาส เปิดพื้นที่ให้คนที่เคยผิดพลาดอย่างผมได้สำนึกตัว ได้ทำงาน
นายพิโชติ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เคยคิดเล่นยา แต่หลงผิดอยากรวยทางลัด อายุย่าง 20 ปี ตัดสินใจมาเป็นคนขายยา หวังได้เงินมาก้อนหนึ่งเพื่อซื้อรถ และมีเงินทุนสักก้อนเพื่อทำธุรกิจ ตอนนั้นรู้สึกผิดแต่ก็ทำ มีการวางแผน ศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ พอถูกจับมีการเรียนต่อในคุก ศึกษาพฤติกรรมคน และคอยช่วยเหลือคนที่ติดคุก เหมือนเราเป็นพ่อบ้าน จนได้รับการยอมรับ พอออกจากคุกมาโอกาสก็ไม่ได้เปิดกว้างเสียทีเดียว เพราะต่อหน้าอาจจะพูดจากับเราดี แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครกล้าจ้างงานเราอยู่ดี ดังนั้นจึงติดสินใจรวบรวมพละกำลังที่มีในการก่อตั้งสถานที่ท่องเที่ยว “เรือนจำดอนกุล&Restaurant” เพื่อหวังให้เป็นสถานที่แห่งการสร้างโอกาสสำหรับคนที่ก้าวพลาด และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน พื้นที่สีขาวให้กับลูกๆ หลานๆ น้องๆ เพื่อนฝูง ซึ่งตนเข้าใจดีว่าคนเรามีความแตกต่างกัน การจะปรับเปลี่ยนคนได้ เราต้องเริ่มต้นจากการรับฟัง และแก้ไขให้ตรงจุด และสิ่งที่จะซับพอร์ตได้ต่อไปคือโอกาส ซึ่งคำว่าเรือนจำดอนกุล หมายถึงเรือนที่น่าจดจำ เราดีใจที่ประสบการณ์ชีวิตเราพอที่จะเป็นเครื่องเตือนใจให้กับวัยรุ่นได้บ้าง
นางสาวราชาวดี กล่าวว่า ในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นปวช.ปี 2 วิทยาลัยเทคนิคอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นจะรับงานพิเศษด้วย อาทิ การร้องเพลงตามงาน ตามร้านอาหาร ต่างๆ และได้มีโอกาสไปออดิชั่นรายการกิ๊กดู๋สงครามเพลงและเข้ารอบ ทำให้มีคนติดต่อมาเพื่อขอเป็นสปอนเซอร์ให้ แต่ระหว่างนี้ขอให้ช่วยไปร้องเพลงในงานเลี้ยงของเพื่อนในวันที่ 6 พ.ค.2555 ภายในงานมีการดื่มกิน ส่วนตัวไม่ได้ดื่ม แต่คนที่จะเป็นสปอนเซอร์ขณะนั้นดื่มจนเมาไม่สามารถขับรถกลับมาส่งตนได้ แต่ฝากฝังให้ติดรถมากับคนรู้จักซึ่งทราบว่าเป็นคนทำงานกู้ภัย ตอนนั้นไม่รู้ว่าเขาเมา กระทั่งขึ้นรถแล้วถึงได้กลิ่นเหล้า กระทั่งใกล้ถึงตัวเมือง มีฝนตกหนักแล้วคนขับก็คุยโทรศัพท์ ซึ่งพอวางสายรถก็แหกโค้งพลิกคว่ำ ทำให้ตนกระเด็นไปเบาะหลัง ทำให้กระดูกหลังหักทับเส้นประสาทไขสันหลังพิการตลอดชีวิต ตั้งแต่ช่วงอกลงมา
“การที่ต้องพิการตอนโตแตกต่างจากการพิการตั้งแต่กำเนิด ทำให้เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก ขับถ่ายเองยังไม่ได้ และต้องใช้เงินมากกว่าคนปกติมากเป็นเท่าตัว เพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ก็พยายามเรียนหนังสือ โดยโอนหน่วยกิตจากปวศ. 2 มาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ สื่อสารมวลชน อ่านหนังสือแล้วไปสอบ จนสามารถจบปริญญาได้ภายใน 3 ปี ครึ่ง และปัจจุบันทำงานอยู่ที่มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ สิ่งที่อยากจะบอกคือไม่มีใครแฮปปี้กับการเป็นคนพิการ เสียใจทุกครั้งที่คิดถึงเหตุการณ์วันนั้น สิ่งที่อยากจะฝากไว้ คือคนเราต้องมีสำนึกต่อส่วนรวมหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ควรขับรถ ที่สำคัญคือกฎหมายจะต้องเอาจริงเอาจัง ตนอยากเห็นการลงโทษคนที่ทำผิดจริงๆ เช่นการยึดใบขับขี่ ห้ามขับรถเป็นเวลากี่ปีๆ ตามฐานความผิด ยิ่งพวกทำผิดซ้ำก็ไม่อยากให้รอลงอาญาแล้วให้ไปบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ทำจริง ไม่ได้สำนึกจริง และไม่เป็นธรรมกับเหยื่อ” น.ส.ราชาวดี กล่าว
No comments:
Post a Comment