นักวิชาการเปิด10ประเด็นสีเทาของเยาวชน พร้อมแนะร่วมสร้างโลกสีใหม่สดใสกว่าเดิม - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Sunday, July 26, 2020

นักวิชาการเปิด10ประเด็นสีเทาของเยาวชน พร้อมแนะร่วมสร้างโลกสีใหม่สดใสกว่าเดิม


นักวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว เผย 10 ประเด็นสีเทาของเยาวชน พร้อมเรียกร้องให้ร่วมมือกันสร้างโลกสีใหม่ที่สดใสกว่าเดิม


    โครงการการพัฒนาศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “เปลี่ยนโลกสีเทาของเยาวชน” เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุม ไมดาส 1 โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการเปลี่ยนแปลงโลกสีเทาของเยาวชนให้สดใสขึ้น
     
    ภายในงานมีการนำเสนอผลการวิจัยในช่วง “อาจารย์ขอเล่า” 3 ประเด็น ได้แก่ 1) แนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดย รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ “พลเมืองเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล” ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดย อาจารย์ ดร.อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และ 3) โครงการพฤติกรรมเสี่ยงการฆ่าตัวตายในมุมมองของวัยรุ่นในจังหวัดนครพนม โดย อาจารย์ ดร.สุรชัย เฉนียง จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ทำให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญโลกสีเทาของเยาวชนตามประเด็นในแต่ละพื้นที่


    
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ หัวหน้าโครงการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า  “การจัดเวทีในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่กลางให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งคนทำงาน ภาควิชาการ และเด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการส่งเสียงถึงปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฆ่าตัวตาย การจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม และการพัฒนาสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ที่ถักทอเป็นประเด็นสำคัญในการดูแลเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน” และจากการสังเคราะห์งานวิชาการและงานวิจัย ทำให้สามารถจำแนกประเด็นสีเทาของเยาวชนออกเป็น 10 ประเด็น ดังนี้

    1.ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ว่ายังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลก ที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน ขณะเดียวกันใน 10 ปีที่ผ่านมา (2007-2017) การลดลงของจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีจำนวนลดลงไม่ถึง 100,000 คน

     2.การรังแกกันระหว่างเด็กและเยาวชน ปัจจุบันระดับความรุนแรงของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้ทวีคูณมากขึ้นกว่าในอดีต จากข้อมูลกรมสุขภาพจิตซึ่งเผยแพร่เมื่อต้น 2561 ระบุว่าเด็กนักเรียนโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนถึง 600,000 คน เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนแล้วเท่ากับประมาณ 40% ถือเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นแล้ววิธีการกลั่นแกล้งก็เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น การล้อเลียนชื่อพ่อแม่ การเรียกชื่อสมมติหรือปมด้อย หรือการตบหัวหรือการชกต่อยเบาๆ แต่สำหรับในปัจจุบัน สื่อและเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทกับพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง พบว่า กลุ่มเยาวชนมากกว่าร้อยละ 50 มีพฤติกรรมกลั่นแกล้งผ่านโลกไซเบอร์และคุกคามผู้อื่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์


    3.ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตายของวัยรุ่น โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายสาเร็จในวัยรุ่นอายุ 15 -19 ปีในเพศหญิงเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายอันดับที่ 2 รองจากปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการฆ่าตัวตายสาเร็จในวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปีในเพศชายการฆ่าตัวตายสาเร็จจัดอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากปัญหาอุบัติจราจร และปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรม (World Health Organization: WHO, 2019)
    
4.ปัญหาการใช้โซเชียลมีเดียอย่างไม่รู้เท่าทัน จากรายงาน "การรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชน" ที่เผยแพร่ในการประชุมสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2558 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ (Thai Netizen, 2015) กล่าวถึงการใช้สื่อออนไลน์ของเยาวชนว่า พวกเขาใช้สื่อเพื่อเข้าถึงเนื้อหาอันตราย เช่น เนื้อหาลามก ยาเสพติด การพนัน หรือใช้ไปเพื่อการรังแกเพื่อน สื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง และมีการแชร์การบ้านเพื่อให้เพื่อนลอกผ่านแอพพลิเคชันสื่อสังคม เช่น เฟซบุ๊ก และไลน์

    5.ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ เมื่อพิจารณาจากคะแนนโอเน็ตเฉลี่ยห้าวิชา ชั้น ป.6 ของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สูงกว่าโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 32% ในปี 2560 ซึ่งหากเทียบกับปี 2552 ซึ่งต่างกันเพียง 14% แล้วจะพบว่า ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มสูงกว่าเดิม ในขณะที่ผลการทดสอบโอเน็ตวิชาคณิตศาสตร์ชั้น ป.6 และ ม.3 แยกตามที่ตั้ง ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนนอกเขตเทศบาลโดยเฉลี่ยได้คะแนนน้อยกว่าโรงเรียนที่ตั้งในเขตเทศบาลเพียงเล็กน้อย แต่ในระดับมัธยม จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ของข้อมูลการสอบ PISA รอบล่าสุดในปี 2018 ทําให้เห็นหลักฐานว่าสถานการณ์ของความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าอยู่ในระดับสูง

    6.พื้นที่ไม่ปลอดภัยในครอบครัวและโรงเรียน จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560 พบว่ามีเด็กเกือบ 9,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขณะเดียวกัน นอกจากนี้ในปี 2558-2559 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี ประมาณ 470,000 คน เคยถูกครอบครัวลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง ในขณะที่ในโรงเรียนมีการนำเสนอข่าวรายวันเกี่ยวกับครูลงโทษเด็กด้วยการตี ทำร้ายร่างกาย กระทำการอนาจารย์ทางเพศ ทำให้บ้านและโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน

    7.การผลิตซ้ำความรุนแรง ยาเสพติด เพศ จากสถิติปี 2562 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีจำนวนเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งลักทรัพย์ ก่อความรุนแรงทางร่างกาย ยาเสพติด เพศ และอื่น ๆ มีมากถึง 20,000 คดี ยิ่งย้ำชัดให้เห็นว่าสภาพสังคมในปัจจุบันได้ผลักเด็กและเยาวชนให้เข้าสู่การผลิตซ้ำความรุนแรง อันเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ประสบการณ์การได้รับความรุนแรง และการขาดพื้นที่แสดงอัตลักษณ์เชิงบวกเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ

    8.การก้าวพลาดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สังคมไทยประสบกับปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนในรอบปีหนึ่ง ๆ ประมาณ 30,000 คน หรือเด็กและเยาวชนกระทำผิดทางอาญาต่อประชากรเด็กและเยาวชน คิดเป็น 3.19 ต่อ 1,000 คน (กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, 2561)


    9.พื้นที่ทางความคิด พื้นที่ประชาธิปไตย หลังจากการรัฐประหาร พื้นที่ในการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนได้หยุดชะงักลงกว่า 5 ปี จนเมื่อมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่เปิดโอกาสให้กลุ่ม new voter ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากถึง 5.6 ล้านเสียง จึงเกิดกระแสการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ แต่ทั้งนี้ในปัจจุบัน การแสดงออกของเยาวชนยังถูกควบคุมภายใต้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน
   
    10.ระบบอำนาจนิยมครอบงำเด็กและเยาวชน เราปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการหล่อหลอมเด็กและเยาวชนไทยตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงโรงเรียนมีการใช้ระบบอำนาจนิยมเพื่อควบคุม สั่งการ จำกัดสิทธิ เสรีภาพ การแสดงออกของเยาวชน กดทับให้เยาวชนไม่สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนแบบที่ตนเองอยากจะเป็น เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อกรอบความคิดแบบ fixed mindset ระดับความคิดสร้างสรรค์ การเคารพซึ่งความแตกต่างหลากหลาย และมุมมองเรื่องการเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นวิธีคิดพื้นฐานการการอยู่ในสังคมประชาธิปไตย

     “มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องสร้างพื้นที่การทำงานภายใต้วัฒนธรรมใหม่ที่ส่งเสริมให้เยาวชนมีพื้นที่ในการสื่อสาร ผู้ใหญ่รับฟังอย่างตั้งใจ ชี้นำผ่านการยกตัวอย่างวิธีการตามประสบการณ์แต่ไม่ตัดสินใจแทน เคารพการตัดสินใจของเด็กและเยาวชน ให้โอกาสลองผิดลองถูก ตลอดจนสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางความคิด จิตใจและร่างกาย เวทีนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่ง movement สำคัญในการร่วมกันส่งเสียงเพื่อหาข้อตกลงในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมกัน และร่วมกันสร้างโลกสีใหม่ที่สดใสกว่าเดิมให้กับเยาวชน” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าว


   
ภายในงานยังได้เชิญตัวแทนเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนและกลุ่มเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศรวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักวิชาการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาการศึกษาทางเลือก สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สกสว. และสถาบันราชานุกูล เพื่อร่วมกันหาข้อตกลงและแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชน วางวิสัยทัศน์ เป้าหมายของคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน พัฒนาข้อเสนอแนะในการทำงานร่วมกันเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนในแต่ละด้าน ตลอดจนร่วมกันหาวิธีการ ช่องทางการสร้างการมีส่วนร่วมในกับเยาวชนในการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง

    การร่วมกันเปลี่ยนโลกสีเทาของเยาวชนในครั้งนี้ จะถือเป็นอีกหนึ่งของกระบวนการสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ เพราะเป็นการพัฒนาข้อเสนอแนะทั้งในระดับการปฏิบัติงาน และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยตั้งต้นจากการใช้งานวิจัยเป็นฐาน และเน้นการฟังเสียงเด็กเป็นสำคัญ

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages