สสส.จับมือเครือข่ายงดเหล้า เดินหน้าแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาปี 63 - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Wednesday, July 8, 2020

สสส.จับมือเครือข่ายงดเหล้า เดินหน้าแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาปี 63


สสส. ร่วมกับ เครือข่ายงดเหล้า จัดแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาปี 63 ชวนคนไทยใช้ "สติสู้วิกฤต" เปลี่ยนวิกฤต 'เสี่ยง' เป็น "สร้างเสริม" สุขภาพ เน้นเสริมพลังชุมชนด้วยกระบวนการ 3 ช. "ชวน ช่วย เชียร์" ภายใต้แนวคิด "มีสติ มีเงินเหลือ พร้อมสู้ทุกวิกฤต" ภาคเด็กและเยาวชน ผนึกกำลัง สพฐ. ชวนเด็กไทยเขียนจดหมายสื่อรักชวนพ่อแม่เลิกเหล้า เผยตัวเลขปีที่ผ่านมา ลด ละ เลิกเหล้าประหยัดเงินได้มากกว่า 8,000 ล้านบาท

    ที่ห้องประชุม Auditorium สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2563 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด19 และการสร้าง New Normal โดยใช้แนวคิด“งดเหล้าเข้าพรรษา มีสติ มีเงินเหลือ พร้อมสู้ทุกวิกฤต” จัดโดย สสส. ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ทำให้ช่วงเวลาของเข้าพรรษาปีนี้มีความแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา สสส.อยากเชิญชวนให้ทุกคนใช้โอกาสสำคัญคือวันเข้าพรรษาที่จะมาถึงนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพ เปลี่ยนช่วงเวลาเสี่ยงมาเป็นเวลาแห่งการสร้างเสริมสุขภาพ โดยปีนี้เราเน้นเรื่องของการใช้ 'สติ' ในการสู้วิกฤต เพื่อให้คนไทยตระหนักและตื่นตัวในการหันมาเปลี่ยนวิถีชีวิต ดูแลสุขภาพ งดเหล้า เอาใจใส่ตัวเองให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้สติในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการจัดการรายได้-รายจ่าย ซึ่งการลดการดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้มีเงินเหลือและเกิดเงินออมมากขึ้นอีกด้วย

    ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการรณรงค์ งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) โดยการสนับสนุนของ สสส. ในช่วงเข้าพรรษาในปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 31.0 สามารถงดได้ตลอดเทศกาลเข้าพรรษา กลุ่มที่งดเป็นบางช่วง (ไม่ครบพรรษา) มีร้อยละ 10.2 และกลุ่มที่ไม่งดแต่ลดการดื่มลง มีร้อยละ 12.3 ซึ่งหากดูในรายละเอียดเพิ่มเติมพบว่า กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปีที่ผ่านมามีร้อยละ 5 ที่ตั้งใจจะเลิกไปเลย โดยกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยว่าการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยให้ประเทศไทยลดปริมาณการดื่มลงได้ นอกจากนี้ กลุ่มที่ลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา ส่วนใหญ่ระบุว่าทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น โดยมีครึ่งหนึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เฉลี่ยรายละ 1,284 บาท ประมาณการจำนวนเงินโดยรวมที่ประเทศประหยัดได้ในช่วงเข้าพรรษาอยู่ที่ 8,251 ล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มที่งดไม่ครบพรรษา ให้เหตุผลสำคัญว่ามีคนชวนดื่ม ขัดไม่ได้ ต้องไปงานเลี้ยง ชอบเที่ยวสังสรรค์ รวมถึงดื่มเป็นประจำ/ ดื่มจนติด (อดไม่ได้) และยังมีนักดื่มร้อยละ 46.5 ที่ดื่มไม่ต่างจากเดิม ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ สสส. และภาคีเครือข่ายจะต้องทำงานและช่วยเสริมกำลังในการรณรงค์กันต่อไป

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

    ขณะที่ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มนักดื่มประจำ (ดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) มากขึ้น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6.98 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีภาวะความเสี่ยงต่อการมีปัญหาและการติดสุราสูง กว่า 1.71 ล้านคน (ดื่มหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) วิธีการรณรงค์ มี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบเชิญชวนผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ และความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ และ รูปแบบที่เน้นการทำงานเชิงลึกกับพื้นที่ชุมชน  โดยปีนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าอยู่ ในช่องทางการประชาสัมพันธ์เราจึงชูประเด็นรณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิก โดยใช้แนวคิด “งดเหล้าเข้าพรรษา มีสติ มีเงินเหลือ พร้อมสู้ทุกวิกฤต” ซึ่งได้มีการผลิตสื่อสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผ่านช่องทางต่างๆ ทั่วประเทศ

ผู้จัดการ สคล. กล่าวต่อว่า ในส่วนการทำงานเชิงลึกร่วมกับชุมชนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มนักดื่มประจำ ขณะนี้มีชมรมคนหัวใจเพชร (คนเลิกเหล้าตลอดชีวิต) จำนวน 142 ชมรม และมีนายอำเภอนักรณรงค์ 158 ท่าน พร้อมคณะทำงานระดับอำเภอตำบล หมู่บ้านจะช่วยกันด้วย กระบวนการ 3 ช. คือ ชวน ช่วย เชียร์ โดยก่อนเข้าพรรษา จะมีการเชิญชวนคัดกรองผู้ที่ต้องการลดละเลิก โดยจะเน้นผู้ที่ดื่มเป็นประจำ ซึ่งจะต้องมีการชวนแบบเคาะประตูบ้าน จับเข่าคุยเพื่อโน้มน้าวให้เห็นประโยชน์ที่จะได้ และช่วยลดปัญหาในครอบครัวชุมชน จากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมปฏิญาณตนบวชใจ เสริมพลังในชุมชน ในระหว่างพรรษาจะมีการติดตามเยี่ยมเยือนให้กำลังใจเป็นขั้นตอนของการช่วย และพอออกพรรษาจะเป็นการเชียร์ หรือยกย่องสนับสนุนให้ลดละเลิกได้ต่อไป

    ทางด้าน นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัดเกือบ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ผ่านมาเข้าร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ปีนี้ปีที่ 11 ภายใต้ โครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ซึ่งเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระทบต่อชีวิตของคนในสังคม สู่การเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาคนที่ดื่มไปพร้อมกัน ทั้งนี้เมื่อผู้ปกครองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทบเกิดปัญหาคุณภาพชีวิตในครอบครัว ก็จะเชื่อมโยงมาถึงคุณภาพการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน โดยเฉพาะการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ ก็มีผลมาจากการ ซึมซับพฤติกรรมจากครอบครัวด้วยเช่นกัน สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา เราใช้กิจกรรมจดหมายสื่อรักลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า และเก็บข้อมูลหลังออกพรรษา 377 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ปกครองงดเหล้าครบพรรษา 16,691 คน ผู้บริหารและคุณครูงดเหล้าครบพรรษา 4,662 คน มีนักเรียนเขียนจดหมายสื่อรักขอพ่อแม่เลิกเหล้า 22,722 คน และนักเรียนที่พ่อแม่ไม่ดื่มก็เขียนจดหมายขอบคุณ 21,997 คน และได้นำกรณีศึกษาที่พ่อเลิกเหล้าได้มาทำสื่อเผยแพร่อย่างสร้างสรรค์

    สำหรับปี 2563 กิจกรรมโพธิสัตว์น้อยจะนำเครื่องมือชุดกิจกรรมเรียนรู้รณรงค์จำนวน 6 กิจกรรม ให้นักเรียนรุ่นพี่ไปสอนรุ่นน้อง  ช่วยให้พ่อแม่งดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวทาง “พี่สอนน้องช่วยพ่อแม่หยุดเหล้า เราจะหยุดโควิด19” ทำให้คนมีสติ ลดรายจ่าย และฝึกการพึ่งตนเองได้แม้เกิดวิกฤต ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงการติดไวรัสโควิด-19 อีกด้วย

     นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีปาฐกถาธรรมพิเศษจาก พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ในหัวข้อ“งดเหล้า ฝึกสติ เพิ่มสมรรถนะความเป็นคนเพื่อสู้ให้ได้ในวิกฤต” และการเปิดตัวสปอตโทรทัศน์ชุด 'สติ' และสปอตวิทยุชุด 'คาถาเรียกสติฝ่าวิกฤต' โดย 3 พระนักเทศน์ชื่อดังของเมืองไทย พระมหาสมปอง ตาลปุตโต, พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) และพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) โดยจะเริ่มออกอากาศรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. นี้เป็นต้นไป

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages