กสศ.ร่วมกับภาคเอกชนเปิดแคมเปญ‘มื้อนี้พี่เลี้ยง’ ช่วยเด็กยากจนพิเศษ - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Friday, September 11, 2020

กสศ.ร่วมกับภาคเอกชนเปิดแคมเปญ‘มื้อนี้พี่เลี้ยง’ ช่วยเด็กยากจนพิเศษ


กสศ. จับมือภาคเอกชนเปิดตัวแคมเปญ ‘มื้อนี้พี่เลี้ยง’ ระดมความร่วมมือบรรเทาภาวะขาดสารอาหารของนักเรียนยากจนพิเศษหลังโควิด-19 เผย ระบบติดตามผล iSEE พบนักเรียนยากจนพิเศษกว่าแสนคนมีภาวะขาดสารอาหารแพทย์หวั่นกระทบทั้งพัฒนาการและการเรียนรู้ระยะยาว

    เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ภาคเอกชนชั้นนำ อาทิ แกร็บ ประเทศไทย เกรฮาวด์ คาเฟ่ เครือบริษัทแสงทองสหฟาร์มและอัครา กรุ๊ป จำกัด บริษัท ซีวา แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เงินติดล้อ จำกัด เปิดตัวแคมเปญ “มื้อนี้พี่เลี้ยง” หนึ่งในโครงการระดมความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ

    นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทุกด้าน นอกเหนือจากทุนเสมอภาคที่ กสศ.ได้จัดสรรให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 8 แสนคนๆละ 2,000 บาท ในภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 เพื่อบรรเทาอุปสรรคภาระค่าใช้จ่ายในการมาเรียน ซึ่ง กสศ. ได้จัดสรรไปถึงเด็กๆ แล้วนั้น ล่าสุด กสศ.ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนชั้นนำ เปิดตัวแคมเปญ “มื้อนี้พี่เลี้ยง” หนึ่งในโครงการระดมความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ เพื่อเร่งแก้วิกฤตขาดสารอาหารให้กับเด็กนักเรียนยากจนพิเศษราว 1 แสนคน โดยสาเหตุมาจากความยากจนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ปัญหานี้เป็นปัญหาสะสมจากความขาดแคลนของครอบครัว ภาวะความเร่งรีบในการประกอบอาชีพที่ทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาเตรียมอาหารที่มีโภชนาการที่ดีให้เด็ก รวมถึงการขาดความรู้ด้านโภชนาการ

    “กสศ.ได้ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือระบบ iSEE ติดตามอัตราการเจริญเติบโตของนักเรียนยากจนพิเศษระดับชั้นประถมศึกษา–มัธยมศึกษาตอนต้น ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash-Transfer: CCT) หรือทุนเสมอภาค ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 โดยเปรียบเทียบน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์แสดงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 5-18 ปี ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะขาดสารอาหาร ราวหนึ่งแสนคน โดยเป็นนักเรียนยากจนพิเศษที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์อายุ (ผอม) จำนวน 46,053 คน (6.6 % ของนักเรียนยากจนพิเศษ) และน้ำหนักค่อนข้างน้อยจำนวน 54,108 คน (7.8 % ของนักเรียนยากจนพิเศษ) โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในระดับประถมศึกษา ราว 73% ” นายสุภกร กล่าว

 
    นายสุภกร กล่าวว่า นักเรียนยากจนพิเศษที่มีภาวะขาดสารอาหาร ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และพบมากที่สุดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส นครราชสีมา เชียงใหม่ บุรีรัมย์ และขอนแก่น เด็กกลุ่มนี้ประสบภาวะขาดสารอาหารเป็นระยะเวลานาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากไร้ขัดสน การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการของครอบครัว และความเร่งรีบในการประกอบอาชีพส่งผลให้ผู้ปกครองไม่สามารถจัดสรรอาหารเช้าที่มีคุณค่าให้กับเด็กๆ ได้ ทำให้กระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งทางร่างกายและสติปัญญา รวมถึงประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง ซึ่งหนึ่งในภารกิจตามกฎหมายของกสศ. คือการเชื่อมโยงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารก็เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาด้วย ทางกสศ.ยังได้ประสานข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของกสศ.และดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดและหาแนวทางช่วยเหลืออย่างยั่งยืนต่อไป


    “แคมเปญมื้อนี้พี่เลี้ยง เป็นหนึ่งในโครงการระดมความร่วมมือพัฒนาระบบอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษของกสศ.ซึ่งมีทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน เข้ามาร่วมสนับสนุน ทั้งในรูปแบบแพลตฟอร์มการรณรงค์รับบริจาคออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรในรูปของเงินบริจาคและอาหาร ให้แก่กลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 100% ซึ่งจากระบบ iseeรายงานว่ามีอยู่ราว 500 โรง ซึ่งโครงการนี้จะมุ่งไปยังโรงเรียนที่มีนักเรียนภาวะขาดสารอาหารจำนวนมาก เพื่อให้เด็กๆได้รับประทานอาหารเช้าที่มีคุณค่าตามโภชนาการตลอดปีการศึกษา 2563 เบื้องต้นจะส่งความช่วยเหลือไปยังนักเรียน 1,000 คนแรกที่อยู่ในภาวะวิกฤตก่อนขยายผลต่อเนื่อง นอกจากนี้กสศ. จะมีการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่แท้จริงของทั้ง 500 โรงเรียนดังกล่าว ซึ่งอาจมีมิติปัญหาด้านอื่นๆของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดต่อไป” ผู้จัดการกสศ. กล่าว


    
ขณะที่ รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการขจัดปัญหาขาดสารอาหาร ภาวะโภชนาการพร่องลด น้อยลง แต่ยังพบเด็กน้ำหนักน้อยและเตี้ยในเด็กยากจนด้อยโอกาส คาดว่ามีเด็กที่มีปัญหาเรื่องขาดสารอาหารจำนวนหลายแสนคน หากไม่ทำอะไรจะเป็นเด็กมีปัญหาไม่มีคุณภาพ และผลการศึกษาระบุว่า เด็กที่ขาดสารอาหารจะเรียนไม่จบ จากข้อมูล พบว่าเด็กที่มีภาวะเตี้ยน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยภาวะขาดสารอาหารเด็กกลุ่มที่ยากจนมีความเสี่ยงมากเพราะช่วยเหลือตัวเองได้ยาก สังคมและชุมชนต้องมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้

    “เด็กต้องการสารอาหารที่มีคุณค่าตามโภชนาการเพื่อการเจริญเติบโตด้านร่างกายและสติปัญญา เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน ถ้าเด็กได้ธาตุเหล็กไม่เพียงพอตัวจะซีด เป็นโรคโลหิตจาง ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ สมาธิและความจำไม่ดี การเรียนรู้มีปัญหา ไม่มีประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังเจ็บป่วย ขาดเรียนบ่อย เรียนไม่รู้เรื่อง ผลการเรียนไม่ดี ถ้าอดอาหารนานเหมือนกินตัวเองไปเรื่อยๆ ร่างกายไม่เจริญเติบโต ดังนั้นหากขาดสารอาหารนานๆจะมีผลทำให้ร่างกายผอมและเตี้ย” รศ.พญ.ลัดดา กล่าว


    
นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยพันธกิจของแกร็บ ในการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการปลดล็อคและทลายข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาส ยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนในสังคม รวมไปถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือกับ กสศ. ซึ่งเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นตัวกลางและช่องทางการระดมทุมช่วยเหลือน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสผ่านร้านอาหารเสมือนจริง (Virtual Store) ภายใต้ชื่อ “ทุพโภชนา” บนแพลตฟอร์ม GrabFoodโดยผู้ใช้บริการแกร็บทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมในการส่งต่อมื้ออาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ผ่านแนวคิด #มื้อนี้พี่เลี้ยง ซึ่งผู้บริโภคสามารถร่วมเปลี่ยนมื้ออาหารของน้องๆ ผ่านการสั่งเมนูอาหารในร้านทุพโภชนา โดยจำนวนเงินค่าอาหารจะถูกรวบรวมเพื่อมอบเป็นทุนค่าอาหารให้แก่น้อง ผ่านการบริจาคได้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน ถึง 31 ตุลาคม 2563 นี้ เป็นระยะเวลา 2 เดือน


    
นายฐิติภูมิ วงศ์เกียรติขจร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่ Greyhound Café ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหารที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Creativity และ Brand Experience เรามองเห็นความสำคัญของแพลตฟอร์มการรับบริจาค ของ กสศ. ว่าเราเป็นแบรนด์หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการทำความดีครั้งนี้ได้อย่างสร้างสรรค์ จึงเกิดเป็นเมนูพิเศษภายใต้โครงการ The Empty Plate Project ที่ทาง Greyhound Café คิดขึ้นมานำเสนอ จากแนวคิดที่ว่า “เปลี่ยนมื้ออดให้เป็นมื้ออิ่ม” เราสร้างสรรค์เมนูพิเศษที่คุณสามารถ “สั่งทางนี้ อิ่มทางโน้น” เงินค่าอาหารที่คุณสั่งจะถูกส่งไปสมทบโครงการมื้ออาหารเช้าสำหรับเด็กที่ขาดแคลน สิ่งเดียวที่เราจะเสิร์ฟให้คุณคือจานเปล่าซึ่งมีคำขอบคุณจากน้องๆ สู่คุณ โดยเมนูพิเศษของเด็กๆ ที่เราคิด จะมาพร้อมกับคำบรรยายที่เขียนเล่าเรื่องราวถึงความน่ากิน ความอร่อย และแต่ละเมนูมีความสำคัญต่อเด็กอย่างไรในเชิงโภชนาการ


    
นายธนาวุฑ เอื้อละพันธ์ รองประธานกรรมการ เครือบริษัทแสงทองสหฟาร์มและ อัครา กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า อัครา กรุ๊ป เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดโภชนาการที่ดีของเด็กๆ จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “อัครา อาสาปันอิ่มปันยิ้มให้สังคม” ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากจะแบ่งปัน และส่งมอบความช่วยเหลือให้กับเด็กๆ ที่ขาดแคลนอาหาร โดยทุกๆครั้ง ที่มีการซื้อสินค้าไข่ไก่อัครา1 แพ็ค ทางอัคราจะบริจาคไข่ไก่ให้ 2 ฟอง เพื่อส่งให้กับน้องๆที่ขาดแคลนอาหาร ผ่านทาง กสศ. ภายใต้แคมเปญ “มื้อนี้พี่เลี้ยง”ร่วมส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคม


    
นางสาวนิภา วนิชวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส งานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เงินติดล้อ จำกัด กล่าวว่า ที่เงินติดล้อ เราเชื่อในเรื่องของการส่งมอบโอกาสที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับผู้ที่เข้าไม่ถึงการเงินในระบบธนาคาร เราเป็นองค์กรที่อยากมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและทำให้สังคมไทยน่าอยู่ยิ่งขึ้น การมาร่วมสนับสนุนโครงการของ กสศ.ในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน สำหรับเงินติดล้อ ถือเป็นอีกหนึ่งมิติที่เราจะได้มีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย


    
สพ.ญ.วิลาสินี ฤทธิวิกรม Poultry Marketing Manager Ceva Animal Health Thailand กล่าวว่า Ceva Animal Health เล็งเห็นความสำคัญของโครงการที่ทาง กสศ.ได้จัดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจที่ทางบริษัทต้องการสนับสนุน นั่นคือการช่วยเหลือเด็กๆที่มีความขาดแคลน มีภาวะทุพโภชนาการและมีปัญหาความยากจน ซึ่งมักจะเป็นปัญหาควบคู่กัน เราจึงยินดีร่วมสนับสนุนไข่ไก่เพื่อเติมเต็มมื้ออาหารของน้องๆ ให้มีโภชนาการที่ดียิ่งขึ้น ทางบริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ “มื้อนี้พี่เลี้ยง” จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ของเรา


 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages