“Envisioning Leadership in 2030” งานเสวนาสุดยอดผู้นำแห่งยุคอนาคต - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Monday, July 14, 2025

“Envisioning Leadership in 2030” งานเสวนาสุดยอดผู้นำแห่งยุคอนาคต


    
มหาวิทยาลัยการบริหารจัดการแห่งสิงคโปร์ (Singapore Management University-SMU) จัดงานเสวนาสุดยอดผู้นำแห่งยุคอนาคต “Envisioning Leadership in 2030”

    เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยการบริหารจัดการแห่งสิงคโปร์ (Singapore Management University (SMU) - Overseas Centre Bangkok) ได้จัดงานเสวนาขึ้น ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยเชิญคุณพิยุช คุปตะ (Piyush Gupta) ประธานคณะกรรมการบริหารของ SMU และอดีตซีอีโอของธนาคาร ดีบีเอส (DBS Bank) ประเทศสิงคโปร์ มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงเพื่อมอบวิสัยทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจของผู้นำแห่งยุคอนาคต โดยมีแขกระดับวีไอพีจากทุกวงการ อาทิ การธนาคาร ธุรกิจไฟแนนซ์ โรงแรม ผู้ให้บริการไอที ฯลฯ เข้าร่วมฟังอย่างคับคั่ง

พลิกวิกฤติองค์กรสู่บทเรียนความเป็นผู้นำ

    คุณพิยุช คุปตะ เปิดเผยว่า “ในฐานะผู้นำระดับสูง การจะวางแผนกลยุทธ์ให้กับองค์กรไม่ใช่การแถลงวิสัยทัศน์หรือวางแผนระยะยาว แต่ควรเริ่มจากการเข้าใจเรื่องในระดับ “รากฐาน” อันเป็นสิ่งที่ผู้นำยุคใหม่มักมองข้าม แต่มีความ สำคัญอย่างยิ่ง หากโครงสร้างองค์กรยังไม่แข็งแรง ควรต้องวางระบบพื้นฐานให้มั่นคงก่อน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างข้อมูล ระบบวัดและประเมินผล ไปจนถึงการทำความเข้าใจและเข้าถึงลูกค้าอย่างจริงจัง”

    สามปัจจัยสำคัญถัดมาคือ กำหนดทิศทางกลยุทธ์ การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ และการกำหนดค่านิยมและ วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง และไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่ต้องออกแบบด้วยความ ตั้งใจ “ผู้นำแห่งยุคอนาคตไม่ใช่คนที่จะรู้ทุกอย่าง แต่ต้องเป็นคนที่ออกแบบวัฒนธรรมองค์กรได้ วัฒนธรรมองค์กรที่ดีไม่ได้มาจากโปสเตอร์ติดผนัง แต่ได้มาจากพฤติกรรมที่ช่วยกันสร้างในทุกๆ วัน” พิยุชกล่าวเสริม

ถ่ายทอดประสบการณ์ตรง หวังสร้างแรงบันดาลใจผู้บริหารยุคอนาคต

    ในฐานะที่เคยประสบความสำเร็จในการนำพาธนาคารระดับภูมิภาคให้ก้าวขึ้นสู่ธนาคารระดับต้นๆ ของโลก เขาได้แบ่งปันประสบการณ์ล้ำค่าแก่ผู้บริหารไทยที่เข้าร่วมฟังเสวานาครั้งนี้ว่า “ที่ธนาคาร DBS เขาไม่เพียงปรับ ระบบงานเท่านั้น แต่ได้เปลี่ยนวิธีคิดของคนทั้งองค์กร โดยประกาศอย่างจริงจังว่า DBS คือบริษัทเทคโนโลยีที่ทำธุรกิจด้าน การเงิน ไม่ใช่เพียงธนาคารที่เล่นกับเทคโนโลยีตามกระแส” แนวคิดดังกล่าวได้มอบประสบการณ์ที่รวดเร็ว และ ไร้รอยต่อให้กับลูกค้าตามที่คาดหวังไม่ต่างจากบริษัทด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้เขาลงมือศึกษาโมเดลของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค พร้อมนำมาปรับใช้ในหลายมิติ อาทิ การให้ความสำคัญ กับการเรียนรู้ การมุ่งเน้นไปที่ ลูกค้า ความเร็ว Cross-Buy แทน Cross-Sell หรือการใช้บริบทและความสะดวกสบายในการกระตุ้นให้ลูกค้า ใช้บริการมากขึ้น แทนที่จะเป็นการพยายามขายผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ชนิด รวมทั้งการสร้างแพลตฟอร์มและระบบ นิเวศน์การใช้ข้อมูลเพื่อสร้างฐานข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะช่วยคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ในระดับมหภาคได้

    นอกจากนี้ เขายังเชื่อมั่นว่าเราควรส่งเสริมให้คนทั่วทั้งองค์กรเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ควรคิดจ้างเพียงคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมทางด้านดิจิทัล โดยลืมไปว่าคนรุ่นเก่านั้นสามารถเรียนรู้ได้หากให้โอกาสเขาในการกล้าลองสิ่งใหม่ๆ เพราะข้อจำกัดไม่ได้อยู่ที่สมองของมนุษย์ แต่อยู่ที่สภาพแวดล้อมองค์กร


เอไอ (AI) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่เป็นทูลส์สำคัญของทุกองค์กร


    “AI มาแน่ และบางตำแหน่งงานจะหายไปจริง” โดยยกตัวอย่างของ DBS ที่เริ่มใช้ predictive AI มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 จนกระทั่งมีโมเดลเอไอทำงานอยู่ถึงกว่า 1,600 โมเดลแล้ว และสร้างมูลค่างานได้มากกว่า 1 พันล้าน ดอลลาร์ต่อปีทีเลยเดียว แต่สิ่งที่เขากล่าวอย่างภูมิใจยิ่งกว่านั้นคือ ผลกระทบจากการมาถึงของเอไอ “เรายังไม่ เคยต้องไล่ใครออก” เพราะระดับผู้บริหารเลือกเส้นทางการฝึกอบรมพนักงาน ให้มีการย้ายสายงานหรือสร้าง แพลตฟอร์มให้พนักงานเลือกงานใหม่ได้เอง จึงไม่เกิดการต่อต้านเพราะเราทำให้พนักงานมั่นใจ ว่าทุกคนทำได้ และพร้อมที่จะปรับปรุงทักษะตนเองให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

    เมื่อคุณศิรเดช โทณวณิก พิธีกรร่วมเวทีตั้งคำถามถึงวิธีบริหารองค์กรในยุคที่มีทั้งเทคโนโลยี การเมือง และสังคมที่เปลี่ยนเร็วเช่นที่เป็นอยู่ในเมืองไทยขณะนี้ วิทยากรผู้มากประสบการณ์และผลงานกล่าวโดยสรุปว่า “คุณไม่จำเป็นต้องคาดเดาอนาคตให้ถูกต้อง แต่พึงสร้างองค์กรที่ปรับเปลี่ยนตามได้ทัน” ดังเช่นที่ DBS เราเลือกใช้โครงสร้างแนวนอน และแบ่งส่วนงานพร้อมมอบหมายให้ทีมขนาดเล็กผู้ใกล้ชิดกับปัญหา โอกาสหรือ ลูกค้าได้มีอำนาจตัดสินใจร่วมด้วย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงรอบทิศ ผู้นำที่ดีในยุคนี้จึงไม่ใช่คนที่รู้ ทุกอย่าง แต่คือคนที่ทำให้ทีมกล้าเปลี่ยน กล้าลอง และไม่กลัวที่จะพลาด

    ในช่วงท้ายของการถาม-ตอบ คุณพิยุช คุปตะ พูดถึงเมืองไทยว่า “ก้าวจังหวะการทำงานของคนไทยอาจช้ากว่า ของคนสิงคโปร์หรือฮ่องกง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเติบโตไม่ได้” โดยเน้นย้ำว่า “อย่ามองว่า การกลมเกลียว (Harmony) นั้นสวนทางกับการเติบโต (Growth) เพราะ DBS งอกงามด้วยความร่วมมือ มิใช่จากการแข่งขัน ภายใน”

    เขาเชื่อว่าวัฒนธรรมเอเชียนั้นมี 3 สิ่งที่เป็นข้อดี คือคนเอเชียนั้นขยัน ทำงานร่วมแรงร่วมใจกัน และเรามีประชากรคนหนุ่มสาวมาก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีหรือการปรับตัวสู่ยุค AI ไม่ใช่เรื่องยาก และเมื่อถามถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในไทย เขาคิดว่าโลกเรารวมถึงประเทศไทยยังไม่กลับไปสู่ยุคก่อนโควิด เพราะมีความไม่แน่นอนในหลายๆ มิติสูงมาก รวมถึงเรื่องของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ภาคสังคม ธุรกิจ และผู้บริโภคสูญเสียความมั่นใจมาก ยกตัวอย่างในประเทศไทย เราไม่สามารถทำให้นักท่องเที่ยวกลับคืนมาเหมือนก่อนโควิด คงต้องรอให้สถาพแวดล้อมต่างๆ นั้นเริ่มคลี่คลายหรือกลับคืนสู่สภาวะสมดุลให้มากกว่านี้เพื่อเรียกคืนความมั่นใจ

    ก่อนปิดการสนทนา เขาได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนขนาดใหญ่ของสังคมเอเชียเรื่องการไม่มีกลุ่มนักคิดนักสร้างสรรค์ ปล่อยให้ชาวยุโรปและอเมริกันเป็นผู้กําหนดแนวทางให้ ขณะที่ปัญหาแท้จริงอยู่ที่สวนหลังบ้านตน ทวีปเอเชีย นั้นมีประชากรอายุเฉลี่ยระดับอ่อนวัยมากที่สุด ซึ่งหมายถึงว่าจำนวนผู้ที่เข้าใจสังคมดิจิทัลมากที่สุดอยู่ในภูมิภาค แห่งนี้ ดังนั้นโจทย์ปัญหาสำคัญอุดมไปด้วยโอกาสอยู่ที่นี่ พวกเราจึงควรคิดทำกันเองที่นี่ด้วย “วันนี้คนรุ่นใหม่ ทั่วโลกไม่ต่างกันมากนัก พวกเขาเติบโตมากับสังคม Instagram อาณาจักร TikTok หรือโลกดิจิทัลแบบเดียวกัน … จงใช้พลังนั้นให้เกิดประโยชน์เถิด”

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages