ถอดรหัสครึ่งทศวรรษ “คนจนเมือง” งานเท่าหรือเทียมฯ แรงกระเพื่อมที่สร้างการมีส่วนร่วม ชวนตั้งคำถาม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทลายกรอบความจน ขยายผลสู่การร่วมขับเคลื่อนผลักดันนโยบายแก้ไขเชิงโครงสร้าง
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิเพื่อคนไทย และภาคีเครือข่าย จัดงาน "เท่าหรือเทียม: เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง" ระหว่างวันที่ 15 - 27 ก.ค. 2568 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เพื่อสะท้อนเรื่องราวความจน ในโอกาสครึ่งทศวรรษ สารคดี คนจนเมือง สู่ข้อเสนอการแก้จนอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนจากภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาความจน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ไทยพีบีเอส กล่าวในหัวข้อครึ่งทศวรรษ “คนจนเมือง” สารคดีชีวิต หลักฐานความเหลื่อมล้ำตอนหนึ่งว่า สารคดี “คนจนเมือง” ที่ผลิตและเผยแพร่ต่อเนื่องยาวนานตลอด 5 ปี 5 ซีซัน 27 ตอน ถือเป็น “หลักฐานของความเหลื่อมล้ำ” ที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกมิติของเมือง สารคดีชุดนี้มีจุดเริ่มที่ไม่ได้เพียงแค่เล่าเรื่องเพื่อให้ “รู้” เท่านั้น แต่ต้องการให้ “รู้สึก” และ “เข้าใจ” ว่าความจนไม่ได้เป็นปัญหาในระดับปัจเจกเท่านั้น แต่มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับอยู่ นำไปสู่การตั้งคำถาม เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยยึดหลัก Human Interest > Public Interest > Solution & Public Policy ตั้งแต่เล่าเรื่องชีวิตให้เข้าถึงใจผู้ชม ไปจนถึงการเชื่อมโยงไปสู่นโยบายสาธารณะ
ผอ.ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคม สะท้อนอีกว่า “คนจนไม่ใช่เพราะขี้เกียจ” เป็นประโยคสำคัญที่สะท้อนผ่านเรื่องราวของ “ตาไหม” ที่ติดกับดักความจน และการพัฒนาที่มักจะ “มาจากข้างบน” ที่ทั้งล่าช้าและไม่ทั่วถึง จนนำไปสู่ “เมืองขนมชั้น” ที่เหลื่อมล้ำด้านสิทธิและโอกาส
เสียงตอบรับของสังคมต่อสารคดีชุดนี้สะท้อนผ่านยอดเข้าชมกว่า 11.64 ล้านวิว และความคิดเห็นจากผู้ชมกว่า 11,000 ข้อความ ซึ่งส่วนใหญ่ 56.65 %แสดงความชื่นชม ให้กำลังใจ 8.64 % ติติง มีความเห็นเชิงลบ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การมาใช้ทรัพยากร สวัสดิการของประเทศไทย หรือเห็นว่า คนจนไม่ควรมีลูก และ 5.42.% เรียกร้องให้รัฐเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดสรรที่อยู่อาศัย การดูแลผู้สูงอายุ การปรับค่าแรงขั้นต่ำ การจัดรัฐสวัสดิการ และเก็บภาษีคนรวย นอกจากนี้ ยังเกิดผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรม เช่น ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมร่วมกันพัฒนาระบบ case manager สนับสนุนทุนและทรัพยากรเพื่อเสริมกลไกรัฐ รวมถึงการหารือร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐเพื่อผลักดันเข้าสู่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2566-2570)
ด้าน ทองคูณ โพสลิต หรือตาไหม เจ้าของเรื่องราวในสารคดีคนจนเมือง ซีซัน 1 ตอน ซอกหลืบเยาวราช ที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งสะท้อนบนเวที "Poverty Talk" : ถอดรหัสความจน ว่า คนจนไม่ได้ขี้เกียจ แต่คนจนไม่มีงานจะทำ ถ้ามีงานทำ เขาจะไม่จน อยากฝากถึงผู้มีอำนาจ หางานให้คนจนทำ ให้เงินมันสั้น หางานจะได้กินยาว ๆ มีเงินเช่าบ้านอยู่ได้ คนจนเมือง จึงจะไม่จนมุมขอแค่มีงานทำ และขอให้เพื่อนคนจนอย่าหมดศรัทธาในศักดิ์ศรีของตัวเอง
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” กล่าวว่า สารคดีชุดนี้คือความพยายามสำคัญในการกระตุกสังคมไทยให้เห็นถึงกรอบความคิดและโครงสร้างอำนาจที่กดทับคนจนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจัดลำดับชนชั้น การผลักปัญหาให้เป็นเรื่องของปัจเจก หรือการมองความจนผ่านแว่นแห่งความสงสาร
“แม้สังคมไทยจะเต็มใจช่วยเหลือกัน แต่กลับติดอยู่ในกรอบวัฒนธรรม ศาสนา และระบบเศรษฐกิจที่ฝังรากลึก ทำให้ไม่สามารถขยับสู่ความเข้าใจเชิงโครงสร้างได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะต่อชีวิตคนจนเมืองที่เผชิญทั้งความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และโอกาสในชีวิต”
ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวย้ำว่า สารคดี “คนจนเมือง” ไม่ได้มีเป้าหมายแค่เล่าเรื่องเพื่อให้เห็นใจ แต่ต้องการเปิดพื้นที่ให้เกิด “Social Empathy” หรือความเข้าใจต่อโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียม ดังนั้น การสื่อสารในอนาคตควรมุ่งเผยให้เห็นจักรวาลของความจน กลไกตลาด และความซับซ้อนของระบบ มากกว่าจะเล่าชีวิตเฉพาะรายบุคคล
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ประธานกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปัญหาความจนเมืองคือ จักรวาลซับซ้อน ที่ต้องเปิดเผย ไม่ใช่เพียงความขาดแคลนแต่เป็นผลของโครงสร้างกดทับหลากหลายมิติ ซึ่งประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย 2.งานและรายได้ที่ไม่มั่นคง 3.การเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐาน 4.ความไร้ตัวตนทางกฎหมาย 5. ความเสี่ยงจากภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม
“การนำเสนอของสื่อควรคิดให้พ้นจากกรอบ “เวทนานิยม” และเล่าความจนให้เห็นในฐานะปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยไม่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนจนเมือง ดังนั้น ต้องกล้าเล่า ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิตในเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบแผนของชนชั้นกลาง แต่มีสิทธิ์เลือกชีวิตของตนเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดของสังคม สื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ที่นำไปสู่ความเข้าใจและการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง” ดร.นพ.โกมาตร ทิ้งท้าย
สำหรับงาน "เท่าหรือเทียม: เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง" ซึ่งเปิดพื้นที่ความร่วมมือของพลเมืองและภาคีเครือข่ายในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับโครงสร้างและนโยบาย โดยกิจกรรมตลอดเกือบ 2 สัปดาห์ ประกอบด้วย 6 กิจกรรม ได้แก่ 1. Exhibition “เส้นทางความเหลื่อมล้ำ” นิทรรศการแบบมีส่วนร่วมผ่านห้องจำลองชีวิต “เกิด – เรียน – งาน – เจ็บ – แก่ – ตาย” 2. Photo Gallery “หน้าตาความจน” ภาพถ่ายบุคคลต้นเรื่อง และบริบทสะท้อนความจนและความเหลื่อมล้ำ ในซีรีส์สารคดี “คนจนเมือง” ของ The Active เพื่อให้ผู้ชมเกิดความ “รู้สึก” ว่า คนเหล่านี้ก็คือเพื่อนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันกับเรา 3. Data Wall “นโยบายแก้จน” เส้นทางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 4. Mini Forum ชมนิทรรศการและเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน การทำงาน ข้อเสนอการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนร่วมกับองค์กรภาคี 5. ตลาดแก้จน รวมหลากหลายบูธจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และ 6. Policy Forum คนจนเมือง เส้นทางหลุดพ้นความเหลื่อมล้ำ พื้นที่ที่จะมาร่วมกันหา “ทางออก และ ไปต่อ” อย่างเป็นรูปธรรม
สามารถรับชมเนื้อหาจักรวาลความเหลื่อมล้ำ โดย The Active ได้ที่ https://theactive.thaipbs.or.th/topic/inequality
ทั้งนี้ สามารถชมสารคดี “คนจนเมือง” ทั้ง 5 ซีซัน ได้ทาง https://www.thaipbs.or.th/program/UrbanPoorDoc/ หรือทางแอปพลิเคชัน VIPA ที่ https://watch.vipa.me/cFD0ZrWzRUb
No comments:
Post a Comment