สรพ.ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Thursday, July 15, 2021

สรพ.ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด


    สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อประชาชน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีน บางซื่อ ขณะที่“ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ” เผย เจ้าหน้าที่ทุ่มเทและทำงานหนัก หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้คนไทย ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน

 

    เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ที่จุดบริการวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ กทม. ซึ่งเป็นศูนย์ฉีดที่บริหารจัดการโดยสถาบันโรคผิวหนัง นางวราภรณ์  สักกะโต หัวหน้าสำนักส่งเสริมการพัฒนา สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ได้นำคณะที่ปรึกษากระบวนการคุณภาพเข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การใช้แนวคิดคุณภาพ ตลอดจนนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เพื่อช่วยในการออกแบบระบบการบริการวัคซีนสำหรับประชาชนที่อยู่นอกสถานที่โรงพยาบาล  รวมทั้งถอดบทเรียนเพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานและเผยแพร่ขยายผลการเรียนรู้ให้กับสถานพยาบาลต่างๆ โดยมีเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป้าหมายของประเทศในการฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโด๊ส ภายในสิ้นปี 2564 นี้
 


    
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลาง บางซื่อ กล่าวถึงการดำเนินงาน การบริหารจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนในศูนย์ฉีดบางซื่อ ทั้งการบริหารจัดการภายในและการหากำลังเสริมจากภายนอกว่า การบริหารศูนย์ฯ ขนาดใหญ่จะมีคนที่มาเข้าร่วมค่อนข้างมาก หลักสำคัญคือ เราต้องมีการสื่อสารให้เห็นถึงเป้าหมายว่างานที่เรากำลังจะทำคืออะไร แล้วทำไปเพื่ออะไร ซึ่งโชคดีที่ว่า งานที่เราทำเป็นงานที่มีเป้าหมายชัดเจน และทุกคนมีความสุข รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรชั่วคราว อาสาสมัคร หรือคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานประจำ งานนี้ไม่ใช่งานระยะสั้น เป็นเรื่องของการวิ่งมาราธอน เพราะฉะนั้นระหว่างทางก็จะมีปัญหา อุปสรรคมากมาย แต่ถ้าเป้าหมายชัด ทุกคนก็จะยังคงอยู่ในเส้นทางนั้นได้ ที่เหลือก็จะเป็นการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่จำเป็น เราต้องมีทีมที่เข้มแข็งและมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน
 


   
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากนั้น จะเป็นวิธีการช่วยให้การทำงานง่ายที่สุด สั้นที่สุด ดีที่สุด และผ่อนแรงเจ้าหน้าที่ได้มากที่สุด เรามีการปรับวิธีการใช้นวัตกรรมการทำงานให้เป็นระบบลีนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ใช้วิธีการให้เจ้าหน้าทำงานน้อยลง เช่น จุดลงทะเบียนที่ต้องใช้เวลานาน เกือบ 10 นาทีต่อคน เราก็ใช้การ์ดรีดเดอร์ บาร์โค้ดรีดเดอร์ ในการสแกน เพื่อทำให้การลงทะเบียนง่ายขึ้น เป็นการผ่องถ่ายกำลังให้เจ้าหน้าที่ยืนระยะการทำงานแบบมาราธอนได้ เพราะเราเปิดตลอด 7 วัน ไม่มีวันหยุด เจ้าหน้าที่ทำงานกะหนึ่งก็ประมาณ 10-11 ชั่วโมง รวมทั้ง เรื่องสวัสดิการ เช่นมีการแจกเสื้อให้ใส่ทำงานซึ่งตอนนี้ได้รับคนละ 9 ตัว รวมทั้งสวัสดิการเรื่องการรับส่ง และการดูแลทางด้านจิตใจ ซึ่งบางครั้งอาจมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้มารับบริการและผู้ให้บริการ เราก็ต้องฟังความทั้งสองฝ่าย แล้วทำการแก้ไข ถ้ามีเรื่องที่ทำให้กระทบกระเทือนจิตใจเจ้าหน้าที่ เราก็ต้องดูแล และสนับสนุนเต็มที่
 


    
“เราดำเนินการโดยไม่ได้หยุดเลย ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม แต่ด้วยการโฟกัสที่เป้าหมาย และทุกคนเข้าใจดีว่าสิ่งที่ทำอยู่เพื่ออะไร ตอนนี้ทุกคนยังดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน รู้สึกว่าเป็นเกียรติด้วยซ้ำในการทำงานครั้งนี้ ก็ทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป เรารับประกันว่า ตราบใดที่วิกฤตินี้ยังไม่หมด ทางศูนย์บางซื่อก็จะพยายามทำงานต่อไปให้ดีที่สุดเพื่อจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในหมู่พี่น้องประชาชนคนไทย และผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันให้ได้” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว
 


    ทางด้าน นายวรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ อาสาสมัครจากทีม HACK VaX กล่าวว่า ในการออกแบบระบบการบริการวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 สำหรับประชาชนนั้น มุ่งเน้นไปที่คุณภาพ ประสบการณ์และการบริการที่ดี โดยที่สถานีกลางบางซื่อ สามารถบริการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้วันละเกือบ 2 หมื่นราย ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย แยกพื้นที่ในการจัดการลดความแออัดและมีการออกแบบสำหรับกลุ่มทีมีความต้องการเฉพาะ เช่นกลุ่มผู้สูงอายุ ใช้กล้องที่สามารถตรวจดูความหนาแน่นในพื้นที่ หรือมีการนำป้ายต่างๆ มาใช้เพื่อเป็นตัวช่วยบอกการดำเนินการตามจุดต่างๆ ทำให้ประชาชนที่เดินทางเข้ามารับการฉีดวัคซีน ไม่รู้สึกหวาดกลัว วิตกกังวล และศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งอื่นๆ สามารถนำรูปแบบของนวัตกรรมต่างๆ ไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม  


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages