นักวิชาการแจงร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุมเหล้า ปิดช่องนายทุนใช้แบรนด์โฆษณาเลี่ยง กม. - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Thursday, July 8, 2021

นักวิชาการแจงร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุมเหล้า ปิดช่องนายทุนใช้แบรนด์โฆษณาเลี่ยง กม.


    นักวิชาการกฎหมาย แจงร่างแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับ สธ. ปิดช่องโหว่นายทุนใช้แบรนด์ดีเอ็นเอ โฆษณาเลี่ยงกฎหมาย พร้อมตีกรอบใช้คนดัง โฆษณา ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ย้ำดูเจตนาเป็นหลัก เอาให้ชัดอะไรทำได้-ไม่ได้ ลั่นกำหนดโทษสูง ปรามนายทุนใหญ่ไม่สนกฎหมาย
 

    เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผอ.หลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะเป็นประธานอนุกรรมการร่างกฎหมาย ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการแก้ไขร่างพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ....ฉบับกระทรวงสาธารณสุข ว่า เหตุที่มีการแก้ไขกฎหมายนี้ เพราะกฎหมายที่มีการใช้มากว่า10 ปี ทำให้กลุ่มธุรกิจมีการใช้ช่องโหว่มาทำการโฆษณา ส่งเสริมการขาย ทั้งนี้ร่างแก้ไขฯ จะมีอยู่หลายส่วน เช่น การแก้ไขนิยามของคำว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสื่อสารการตลาด ซึ่งจะแยกหมวดการโฆษณา ออกมาเป็น 3-4 มาตรา โดย 1.ยกเลิกมาตรา 32 เดิม และแยกออกมาเป็น 2 มาตรา คือห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็มีข้อยกเว้นในวรรคสอง ซึ่งของเดิมยังมีปัญหาเรื่องการตีความ ดังนั้นจะมีการกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจน อีกส่วนหนึ่งคือยกมาตรา 32 เดิมมาเลยคือห้ามผู้ใดแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการโอ้อวดสรรพคุณหรือชักจูงให้ผู้อื่นบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 

    นอกจากนี้ยังเพิ่มมาอีก1 มาตรา คือแบรนด์ดีเอ็นเอ หรือการใช้ชื่อหรือตราสัญลักษณ์ไปทำสินค้าอื่น เช่น น้ำดื่ม และทำการโฆษณา ซึ่งเป็นปัญหาที่เราพยายามแก้ไขมานาน และยังเพิ่มมาตรา 32/4 เป็นเรื่องทุนอุปถัมภ์ ซึ่งทั้ง 2 มาตรานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อยู่ในกฎหมายบุหรี่ และก็ยังเพิ่มมาตรา 32/5 ห้ามเผยแพร่ข่าวสารหรือกิจกรรมตาม 32/4ส่วนอื่นๆ ที่มีการแก้ไขก็เป็นเรื่องของอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง มีการเพิ่มมาตรา 34 เรื่องการขอดูบัตรประชาชน เพิ่มเรื่องการยึดอายัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ผลิตผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และสุดท้ายคือเรื่องบทลงโทษ
 

    ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการกฎหมายกีดกันธุรกิจนั้นตนก็ขอย้ำว่าหลักการของกฎหมายยังเป็นหลักการเดิมที่อยู่ในขอบเขตที่ศาลวินิจฉัยไว้ว่าการจำกัดเสรีภาพในการโฆษณานี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ขัด หรือไม่ชอบในรัฐธรรมนูญเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติ แต่เป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามเราไม่ได้ห้ามเด็ดขาด ก็ยังมีข้อยกเว้น แต่ยังต้องไปทำให้เกิดความชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ เช่น การโฆษณาด้วยบิลบอร์ดขนาดใหญ่ทำไม่ได้ การโฆษณาในทีวีทำไม่ได้ ดังนั้นจะพยายามแก้และขีดเส้นให้ชัดเจนว่าทำได้แค่ไหน เพียงไร ส่วนประชาชนที่โพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะดูเรื่องเจตนาว่าทำเพื่อการโฆษณาหรือไม่ เพราะจะมีบางกรณีใช้ดารา คนมีชื่อเสียงมาสื่อสารเป็นนัยยะของการโฆษณา แต่อ้างว่าเป็นประชาชน ตรงนี้จึงต้องดูเจตนาเป็นหลัก ทั้งนี้ยืนยันว่าการเขียนตรงนี้ให้ชัดเจนจะช่วยป้องกันเรื่องการถูกรีดไถด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฯ อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ทางเราก็รับฟังทุกความเห็นแล้วจะนำมาประมวลผลเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป
 


    ด้าน ผศ. ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก ในฐานะอนุกรรมการร่างกฎหมายฯ กล่าวว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้น ไม่ได้มีการปรับคำนิยาม คำว่าโฆษณา แต่ปรับคำนิยามของคำว่า “การสื่อสารการตลาด” ให้กระชับและชัดเจนขึ้น และปรับแก้มาตรา 32 เพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องการห้ามโฆษณา กล่าวคือได้แยกเป็นมาตรา 32/1มาตรา 32/2และมาตรา 32/3โดย มาตรา 32/1คือ การห้ามใช้ชื่อ หรือตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในลักษณะที่มีการอวดหรืออ้างสรรพคุณ หรือจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรง หรือโดยอ้อม ซึ่งในกรณีนี้ ที่สงสัยกันมากคือ การโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านโซเชียลมีเดียผิดหรือไม่? ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ถ้าโพสต์โดยไม่มีการจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม หรือไม่มีการอวดหรืออ้างสรรพคุณใดๆ ก็ไม่ผิด

  

    ทั้งนี้ เจตนากฎหมายเพื่อไม่ต้องการให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้ผู้มีชื่อเสียงในสังคมซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะเป็นเครื่องมือไปโพสต์ข้อความเชิญชวนผู้อื่นให้ดื่มแอลกอฮอล์ โยพาะกับเด็กและเยาวชนจะมีผลมากทีเดียว ส่วน32/2เพิ่มเติมเข้ามา สาระสำคัญคือ ไม่ให้มีการนำเครื่องหมายการค้า หรือสัญลักษณ์ใดๆของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปใช้กับสินค้าอื่น เช่น น้ำดื่ม โซดา แล้วนำมาโฆษณาอันส่อเจตนาเป็นการเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาทั้งในการตีความและการบังคับใช้กฎหมายมาก ซึ่งมาตรานี้ก็สอดคล้องกับกฎหมายยาสูบและกฎหมายของต่างประเทศหลายฉบับ ที่มีการแยกสินค้าควบคุม กับสินค้าไม่ควบคุมไม่ให้มีการใช้สัญลักษณ์หรือแบรนด์เดียวกัน หรือคล้ายกัน ซึ่งแสดงชัดว่า พรบ.ฉบับนี้ไม่ได้กีดกันรายย่อยอย่างที่ถูกกล่าวหา เพราะมีแต่รายใหญ่เท่านั้น ที่โฆษณาแฝงด้วยตราเสมือน และมีทุนมหาศาลซื้อโฆษณาเอาเปรียบรายย่อย
 

    “กฎหมายไม่ได้ห้ามกลุ่มธุรกิจขาย แต่ต้องการให้มีการควบคุมการขายให้มีความสมดุล และคุ้มครองสุขภาพของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ และควบคุมการโฆษณา เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่สินค้าปกติ จริงๆแล้วผู้ที่ต้องการโฆษณามากที่สุดคือ ผู้ผลิตและผู้นำเข้ารายใหญ่ ซึ่งต้องแข่งขันเพื่อการสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองเป็นที่หนึ่งในใจผู้บริโภค ดังนั้น จึงได้มีการปรับเพิ่มโทษในร่างกฎหมายใหม่ อย่างเช่น กรณีมาตรา 32/1 นั้น หากฝ่าฝืนจะมีการลงโทษผู้ผลิต และผู้นำเข้าโดยมีโทษไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนผู้อื่นที่กระทำผิดนั้นก็ยังอยู่ในกำหนดโทษตามเดิม ทั้งนี้เพราะผู้ผลิต นำเข้า ถือเป็นรายใหญ่ต้องมีความรับผิดชอบ หากไม่ปราม จะทำให้ผู้จำหน่ายรายย่อย กลายเป็นเหยื่อในการโฆษณาผลิตภัณฑ์แต่คนที่ได้อานิสงค์เต็มๆ คือเจ้าของแบรนด์รายใหญ่” ผศ. ดร.บุญอยู่ กล่าว

 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages