น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ว่า ครม.รับทราบรายงานประจำปี 2563 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนในครอบครัวที่ยากจน กสศ.จึงได้ปรับแผนการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจ และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม ภายใต้งบประมาณ จำนวน 5,915 ล้านบาท ผ่าน 9 โครงการ ดังนี้
การดำเนินงานของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีโครงการสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พัฒนาระบบการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาแบบบูรณาการในพื้นที่ 20 จังหวัดนำร่อง โดยสามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายจำนวน 26,055 คน
2.โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จัดสรรเงินช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวม 994,428 คน และให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 753,996 คน
3.โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาและประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพของตนเอง ซึ่งมีนักศึกษาได้รับทุน 4,588 คน ใน 66 สถาบันการศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ
4.โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ?ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ?
สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีผลการเรียนดี มีความสามารถพิเศษ และมีเจตคติที่ดีต่อสายอาชีพ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก 38 คน
5.โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน [ครูรัก (ษ์) ถิ่น] ผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่บรรจุในพื้นที่ห่างไกลที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง รุ่นที่ 1 โดยมีเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ได้รับทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ 328 คน ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัด
6.โครงการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่งเสริม สนับสนุน ประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพของตน มีผู้เข้าร่วมโครงการ 9,056 คน ใน 51 จังหวัด
7.โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา พัฒนาครูให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้เรียนที่เป็นเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และให้ผู้เรียนมีทักษะในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับความถนัด รวมถึงการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้ 35,140 คน
8.โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ 834 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการเกิดกระบวนการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ที่จะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนา 19,660 คน และนักเรียนได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพ 194,600 คน
9.โครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กสศ. โดยในปี 2563 มีการวิจัยนวัตกรรมด้านการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ 23 โครงการ
No comments:
Post a Comment