ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท กำไร 3.8 แสนล้าน! จริงหรือราคาคุย? - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Thursday, April 22, 2021

ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว 50 บาท กำไร 3.8 แสนล้าน! จริงหรือราคาคุย?


    ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยานได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Drsamart Ratchapolsitte โดยมีเนื้อหาดังนี้
 

    เมื่อไม่นานมานี้กระทรวงคมนาคมเสนอแนะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 50 บาท คุยว่าจะได้กำไรถึง 380,200 ล้านบาท ถ้าได้กำไรจริงก็น่าสน แต่จะได้กำไรหรือจะขาดทุนต้องอ่านบทความนี้
เป็นข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมที่น่าติดตาม โดยอ้างว่าถ้า กทม. จ้างเอกชนให้เดินรถตั้งแต่ปี 2573-2602 เก็บค่าโดยสารสูงสุด 50 บาท ให้ กทม.รับภาระหนี้เองทั้งหมด จะทำให้ กทม. มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ดีกว่าขยายเวลาสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2573-2602 โดยมีเงื่อนไขให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท


    ด้วยเหตุนี้ ผมจึงวิเคราะห์เจาะลึกถึงวิธีการคิดกำไรของกระทรวงคมนาคม ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. รายรับ
    กระทรวงคมนาคมคิดรายรับได้ 714,000 ล้านบาท ซึ่งคลาดเคลื่อนเพราะไม่ได้คิดรายรับในช่วงปี 2564-2572 ด้วย หากคิด จะได้รายรับประมาณ 1,047,000 ล้านบาท โดยให้ผู้โดยสารเพิ่มปีละ 2% รายรับนี้ได้หักค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) ประมาณ 17,000 ล้านบาท ออกไปแล้ว


2. รายจ่าย
2.1 หนี้
    กระทรวงคมนาคมคิดหนี้ที่ กทม. จะต้องจ่ายถึงปี 2572 ได้ 76,000 ล้านบาท ไม่ได้คิดหนี้ในช่วงปี 2573-2602 และไม่ได้คิดหนี้ครบทุกรายการ ถ้าคิดหนี้ให้ถูกต้องตั้งแต่ปี 2564-2602 จะได้หนี้รวมประมาณ 121,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยงานโยธา 90,650 ล้านบาท หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,768 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถค้างจ่าย 9,602 ล้านบาท


2.2 ปันผล
    กระทรวงคมนาคมเสนอแนะให้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และระดมทุนจากผู้ร่วมลงทุนมาจ่ายหนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะได้เงินปันผลปีละ 5% ทุกปี ในช่วงปี 2573-2585 รวมเป็นเงิน 9,800 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เพราะเป็นกองทุนที่ขาดทุน คงยากที่จะมีผู้สนใจมาร่วมลงทุน จึงไม่สามารถจัดตั้งกองทุนฯ ได้


2.3 ค่าจ้างเดินรถ
    กระทรวงคมนาคมคิดค่าจ้างเดินรถเฉพาะส่วนต่อขยายในช่วงปี 2573-2602 ได้ 248,000 ล้านบาท ซึ่งคลาดเคลื่อนเพราะ
- ไม่ได้คิดค่าจ้างส่วนต่อขยายในช่วงปี 2564-2572
- ไม่ได้คิดค่าจ้างส่วนหลักซึ่งประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ในช่วงปี 2573-2602
    หากคิดให้ครบถ้วน จะได้ค่าจ้างรวมทั้งหมดประมาณ 841,000 ล้านบาท


2.4 ค่าซ่อมบำรุงรักษาใหญ่
    กระทรวงคมนาคมไม่ได้คิดค่าซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ในช่วงปี 2573-2602 เช่น ค่าเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้งานมานานหลายปี หากคิดจะต้องใช้เงินประมาณ 93,000 ล้านบาท


3. การคิดกำไรหรือขาดทุน
    กระทรวงคมนาคมคิดกำไรได้ถึง 380,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากใช้รายรับ (ในข้อ 1) ลบด้วยรายร่าย (ในข้อ 2.1-2.4) โดยไม่ได้แปลงให้เป็นมูลค่าในปีปัจจุบัน (Present Value) หรือปี 2564 ก่อน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกต้อง หากคิดรายรับและรายจ่ายให้ถูกต้อง พร้อมทั้งแปลงให้เป็นมูลค่าในปี 2564 จะพบว่า กทม. จะขาดทุนถึงประมาณ 74,000 ล้านบาท
    ดังนั้น หากลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือ 25 บาท ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอแนะ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายหรือค่าโดยสารสูงสุด กทม. จะขาดทุนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 23,200 ล้านบาท แต่ผมไม่ตำหนิสภาองค์กรของผู้บริโภคที่คำนวณได้ผลลัพธ์เช่นนี้ เนื่องจากใช้วิธีคำนวณของกระทรวงคมนาคมซึ่งสมควรใช้อ้างอิง แต่เมื่อวิธีคำนวณของกระทรวงคมนาคมคลาดเคลื่อนก็ย่อมทำให้ผลลัพธ์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคคลาดเคลื่อนตามไปด้วย


สรุป
    1. หากเก็บค่าโดยสารสูงสุด 50 บาท กทม. จะขาดทุนประมาณ 74,000 ล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 380,200 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมคิด
    2. หากเก็บค่าโดยสาร 25 บาท กทม. จะขาดทุนไม่น้อยหนึ่งแสนล้านบาท ไม่ใช่ได้กำไร 23,200 ล้านบาท ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคคิด
    3. นอกจากจะขาดทุนจำนวนมากแล้ว หาก กทม. จะจ้างเอกชนรายอื่นให้มาเดินรถในช่วงปี 2573-2602 จะมีปัญหาดังนี้
    3.1 บีทีเอสอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. เนื่องจาก กทม.ได้ทำสัญญาจ้างบีทีเอสให้เดินรถทั้งส่วนหลักและส่วนขยายถึงปี 2585 ไว้ก่อนแล้ว
    3.2 กทม. จะต้องหาเงินสำหรับจ่ายหนี้และค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายช่วงปี 2564-2572 รวมทั้งค่าชดเชยกองทุน BTSGIF เป็นเงินประมาณ 135,000 ล้านบาท จะหาได้หรือ?
    ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายถูกลง ไม่เฉพาะสายสีเขียวเท่านั้น แต่ในกรณีสายสีเขียวเมื่อได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้ว กระทรวงคมนาคมจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages