หยุดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สังคมต้องไม่นิ่งเฉย - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Saturday, October 23, 2021

หยุดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สังคมต้องไม่นิ่งเฉย


    มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิเคราะห์ปม “พ่อฆ่าลูก” สูงขึ้นจาก ทัศนคติหลายด้าน "ชายเป็นใหญ่–ลูกคือสมบัติ” ซ้ำถูกกระตุ้นด้วย"แอลกอฮอล์"ยิ่งขาดสติ ขณะที่แนวคิด “ครอบครัวสมบูรณ์” ทำผู้หญิงยอมจำนนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว วอนลุกขึ้นจัดการความสัมพันธ์ก่อนคร่าชีวิตคนที่รัก ขณะที่ “ทิชา”กระตุกสังคมอย่าเฉย ลั่นทุกคนมีส่วนบ่มเพาะความรุนแรง


    เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงเหตุการณ์พ่อเลี้ยงทำร้ายร่างกายลูกเลี้ยงจนถึงแก่ชีวิต ที่จังหวัดสระบุรี ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวขณะนี้มีแนวโน้มพบได้มากขึ้น ทั้งความรุนแรงทางร่างกาย และละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่ประมาณ 80%เป็นกรณีสามีทำร้ายภรรยา ส่วนกรณีสามีฆ่าลูกก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยจากการเก็บข้อมูลจากข่าวที่มีการเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ปี 2559 มีข่าวพ่อเลี้ยงฆ่าลูกเลี้ยง 9 เหตุการณ์ ขณะที่พ่อแท้ๆ ฆ่าลูก 8 เหตุการณ์ ส่วนปี 2561 พบข่าวพ่อเลี้ยงฆ่าลูกเลี้ยง 12 เหตุการณ์ พ่อแท้ๆ ฆ่าลูก13 เหตุการณ์ รวมแล้ว 25 เหตุการณ์ จะเห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นพ่อแท้ๆ เป็นผู้กระทำ หรือพ่อเลี้ยงเป็นผู้กระทำก็ตาม และเมื่อดูในรายละเอียดลักษณะการก่อเหตุมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย


    
นางสาวอังคณา กล่าวว่า จากเหตุการณ์เหล่านี้ รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสระบุรี พบว่าสังคมมุ่งเป้าโจมตีไปที่ผู้หญิงซึ่งเป็นแม่ ซึ่งหากฟังจากคำให้การที่เจ้าตัวระบุว่า พยายามที่จะรักษาความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ที่มีพ่อ แม่ ลูก ซึ่ง วิธีคิดแบบนี้ทำให้ผู้หญิงหลายคนเวลาถูกกระทำความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือลูก ทั้งทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งลูกถูกข่มขืน ก็ยังต้องอดทนอยู่กับปัญหาต่อไป ดังนั้นก็ต้องตั้งคำถามกับสังคมด้วยว่า การหล่อหลอมวิธีคิดเช่นนี้ รวมถึงการหล่อหลอมทัศนคติชายเป็นใหญ่ และทัศคติที่ท่องว่าลูกเป็นสมบัติ พ่อแม่เป็นเจ้าของชีวิต และความเชื่อที่ว่าการทำความรุนแรง ลงโทษนั้นทำไปเพราะความรัก เพราะความเชื่อเหล่านี้ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว โดยที่ผู้กระทำไม่ทันคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิด แต่ทำไปเพราะความรัก อีกทั้งการยอมของผู้หญิงเพื่อรักษาคำว่าครอบครัวที่สมบูรณ์นั้นทำให้ปัญหาลุกลาม บานปลายจนถึงขั้นเสียชีวิต และจากข่าวล่าสุดนี้พบด้วยว่าพ่อเลี้ยงมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน

    “เคสนี้แม่อยู่ในบ้านด้วย เข้าใจว่าผู้หญิงหลายคนมีสถานะที่ต้องพึ่งพาผู้ชายทั้งร่างกายและอารมณ์ เขามองว่าผู้ชายเป็นคนดี เพราะไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับภรรยา และรู้สึกว่าการมีครอบครัวสมบูรณ์จึงต้องอดทน ทำให้ผู้หญิงหลายคนยอมจำนนต่อปัญหา แต่จริงๆ แล้วควรลุกมาจัดการความสัมพันธ์ เพื่อปกป้องตัวเอง และลูก เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายถึงขั้นเสียชีวิตของใครก็ตาม การลุกขึ้นมานั้นเข้าใจว่ายาก แต่มีกลไกลขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐ และภาคประชาชนอยู่ แต่อีกปัญหาคือการแจ้งความยังมีข้อจำกัดเหมือนเดิม โดยเฉพาะทัศนคติของตำรวจในการมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว” นางสาวอังคณา กล่าว

 

    ด้าน นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ค่านิยมภายใต้ระบบสังคมชายเป็นใหญ่ ได้พรากชีวิตเด็กที่บริสุทธิ์ไปนับไม่ถ้วน และทุกครั้งที่เกิดความสูญเสีย จะมีเสียงเกรี้ยวกราดต่อผู้กระทำและผู้ไม่ได้กระทำ แต่ไม่ปกป้องเด็กอย่างสมเหตุสมผล พอเวลาผ่านไปการส่งเสียงจะน้อยลง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก จึงจะออกมาส่งเสียงกันอีกวนลูปเช่นนี้ซ้ำๆ ซากๆ ทั้งนี้ปัญหาสำคัญ ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวความรุนแรงต่อเด็กอยู่ตลอดนั้นเพราะสังคมมีการ ยอมรับการใช้ความรุนแรงด้วยการมองว่า เป็นเรื่องผัวเมีย, คนนอกไม่เกี่ยว, เป็นเรื่องในครอบครัว, เป็นเรื่องลิ้นกับฟัน, เดี๋ยวก็ดีกัน อย่าเข้าไปยุ่งเปลืองตัว เพราะฉะนั้นทุกๆคน คือ ส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงนี้ไปด้วยกัน ดังนั้นต้องไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรง ต้องหาทางช่วยเหลือแจ้งประสานหน่วยที่เกี่ยวข้อง และแน่นอนว่า คนทำผิดต้องไม่ลอยนวล กฎหมายต้องศักดิ์สิทธ์ ผู้เสียหายต้องได้รับความยุติธรรมเสมอภาค เท่าเทียม และไม่มีเงื่อนไข

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages