ไขผลกระทบของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต่ออุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และบริการด้านอาหาร
จากงานวิจัย Mintel Global Consumer ที่ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า ผู้บริโภคมากกว่า 50% ต่างกังวลว่าตนจะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนก่อนที่จะมีโรคระบาด ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์ กักตุนอาหาร หรือการเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นสถานที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งยังทำให้อาหารกลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่เพื่อการยังชีพ แต่ยังเป็นเหมือนแหล่งกำลังใจที่ช่วยให้ผู้คนก้าวเดินต่อไปอีกด้วย
เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกประจำปี 2565 ของ Mintel ได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมเหล่านี้ พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำที่แบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม และผู้ให้บริการด้านอาหารสามารถนำไปใช้วางกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในอนาคต ซึ่งเทรนด์สำคัญ 3 ประการ เพื่อการนำเสนอศักยภาพที่ยอดเยี่ยมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นได้แก่ ควบคุมได้ เพลิดเพลินได้ทุกที่ และพื้นที่แห่งความยืดหยุ่น
ควบคุมได้
ในส่วนของการ “ควบคุมได้” จะพาไปดูว่าผู้บริโภคต้องรับมือและจัดการกับความรู้สึกว่าไม่มีอะไรแน่นอน และความไม่มั่นใจที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการที่จะมีอำนาจจัดการและควบคุมสิ่งต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ แบรนด์อาหารและเครื่องจะช่วยส่งเสริมผู้บริโภคในส่วนนี้ได้ด้วยการให้รายละเอียดสินค้าอย่างโปร่งใส ชัดเจน และตรงไปตรงมา
“ทุกวันนี้ ผู้บริโภคต้องการอำนาจที่จะเลือกสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองมากกว่าที่เคยเป็นมาเพื่อการมีสุขภาพที่ดี โดยผู้บริโภคมากกว่าครึ่งในฟิลิปปินส์ (61%) ไทย (56%) และเวียดนาม (64%) ชี้ว่า ตนเลือกที่จะอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ (เช่น ส่วนผสม ส่วนประกอบทางโภชนาการ) ก่อนที่จะซื้ออาหารหรือเครื่องดื่ม แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มมีหน้าที่ในการที่จะให้คำแนะนำที่มีความชัดเจนและน่าเชื่อถือเพื่อสอดรับต่อความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคจะสามารถเลือกตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพได้อย่างมั่นใจ หากแบรนด์ให้ข้อมูลที่มีความชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ และเชื่อมโยงกับความต้องการสารอาหารในแต่ละวัน” Heng Hong Tan นักวิเคราะห์ด้านอาหารและเครื่องดื่มของ Mintel APAC กล่าว
“ผู้บริโภคคาดหวังถึงความโปร่งใสในการทำธุรกิจของแบรนด์ที่ไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นไปตามหลักจริยธรรมที่ควรจะเป็นมากขึ้น แบรนด์จะได้รับความไว้วางใจหากมีการรับรองถึงหลักปฏิบัติจากหน่วยงานภายนอก หรือมีการวัดประเมินผ่านการจัดลำดับต่าง ๆ เพราะสิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้บริโภคจะสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและมีข้อมูลมารองรับการตัดสินใจนั้น” Tan กล่าวเสริม
เพลิดเพลินได้ทุกที่
“เพลิดเพลินได้ทุกที่” เปิดโลกความคิดที่ว่า ผู้บริโภคต้องการก้าวข้ามการถูกจำกัดอิสระ หลังจากต้องทนกับการใช้ชีวิตในช่วงเวลาแห่งการล็อกดาวน์มาอย่างยาวนาน และจะรู้สึกมีความสุขกับสิ่งสนุกใหม่ ๆ ที่มาในรูปแบบของกิจกรรมและเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจึงนับว่าอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่จะรังสรรค์ประสบการณ์ที่โลกออนไลน์ก็ไม่สามารถทดแทนได้
“ผู้บริโภคชื่นชอบอาหาร เครื่องดื่ม และบริการด้านอาหารที่อิ่มเอมผ่านการใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อที่จะนำพาพวกเขาเข้าถึงรสชาติและความสุขในการลิ้มรส อาหารและเครื่องดื่มที่หน้าตาน่ารับประทานอาจทำให้พวกเขาพบกับรสชาติเหนือความคาดหมายและมิติที่น่าสนใจได้ ในขณะเดียวกัน เมตาเวิร์ส (Metaverse) ได้เป็นเหมือนตัวกลางใหม่ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์ต่าง ๆ มีส่วนร่วมกับผู้บริโภค ตามข้อมูลผู้บริโภคของ Mintel แล้ว ในประเทศสิงคโปร์ 73% ของผู้บริโภค กล่าวว่า พวกเขาจะเล่นเกมบนแท็บเล็ต แล็ปท็อป หรือคอมพิวเตอร์ โดยแบรนด์ต่าง ๆ จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในเกม และ “เปลี่ยนสิ่งธรรมดา ๆ ในชีวิตให้กลายเป็นเกมอันแสนสนุก” อย่างการทำอาหารผ่านโลกดิจิทัลที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อหรือผูกสัมพันธ์กับผู้อื่นได้” Tan กล่าวต่อ
พื้นที่แห่งความยืดหยุ่น
การระบาดใหญ่ทำให้ผู้บริโภคโหยหาการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความสะดวกสบายในแง่ของการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ไปพร้อมกัน “พื้นที่แห่งความยืดหยุ่น” จะทำให้เราเข้าใจว่า ผู้บริโภคนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเปลี่ยนความคิดที่มีต่อพื้นที่ทำงานกับพื้นที่ให้ความผ่อนคลาย เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป การผสมผสานระหว่างพื้นที่ทางกายภาพกับออนไลน์ที่ดีที่สุดจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างตัวตนให้กับแบรนด์ในการโต้ตอบกับผู้บริโภคในอนาคต โดยในประเทศอินโดนีเซีย 82% ของผู้บริโภคเลือกที่จะเดินทางไปซื้ออาหารด้วยตนเองจากร้านค้า
“เราจะเห็นผู้ค้าปลีกกำหนดแนวทางใหม่ในแง่ของพื้นที่และการขายเพื่อรองรับฐานผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้ความสะดวกในการเชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น และดึงผู้ที่มีความสนใจเหมือน ๆ กันให้มาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นในโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ ในทุก ๆ วันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปเช่นนี้ โลกที่มีความผสมผสานจะหมุนไปอย่างราบรื่นมากขึ้น” Tan กล่าวสรุป
No comments:
Post a Comment