กสศ.ร่วมกับ อว.-สอศ. ลงนามความร่วมมือ "โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" หนุนเด็กด้อยโอกาสให้ได้เรียนต่อสายอาชีพ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ศตวรรษที่ 21 จับมือ 66 สถาบันการศึกษาบ่มเพาะนักศึกษาทุน 4,890 คน นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ทุนกสศ.คุ้มค่า ได้ผลกำไรคืนกลับประเทศชาติถึง 60 %
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ. ) ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อค้นหาเด็กเรียนดีแต่ยากจน ให้ศึกษาต่อในสายอาชีพ ซึ่งภายในงานมีการประชุม “สร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง”โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรสายอาชีวะเข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า กสศ.ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงมีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพ โดยร่วมกับสถานศึกษาสายอาชีพ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนสายอาชีพ และสร้างโอกาสให้เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้เรียนต่อสายอาชีพ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย4.0และความต้องการตลาดแรงงานในประเทศ ปัจจุบันมีสถานศึกษาจากทุกสังกัด (สถานศึกษาอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถานศึกษาอื่นๆที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงหรืออนุปริญญา) ในปี 2562-2563 จำนวน 66 สถานศึกษาสายอาชีพ กระจายตัวใน 40 จังหวัด โดยมีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น1 และ 2 รวมจำนวน 4,890 ทุน
โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพฯ มีเป้าหมายสำคัญคือ 1.ค้นหาเยาวชนช้างเผือกที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้รับทุนการศึกษาทางสายอาชีพตามหลักสูตรที่ทันสมัยและตรงกับความต้องการของประเทศ 2.ผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ภายใต้ทิศทางการดำเนินงาน 4 ประการ คือ 1.ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 2.เด็กที่ได้รับทุนทุกคนเรียนจบแล้วต้องมีงานทำ3.เด็กที่ได้รับทุนได้สำเร็จการศึกษาตลอดหลักสูตรในสัดส่วนที่สูง ไม่มีการหลุดออกนอกระบบกลางคัน และ4.หลังจากจบการศึกษาแล้วจะส่งเสริมอาชีพให้กับทุกคน
นายสุภกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการดำเนินการรุ่นที่ 1 ที่ผ่านมาพบว่าเด็กที่ได้รับทุนมีผลการเรียนดีมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.00 หรือกว่าร้อยละ 67 ถือเป็นผลที่น่าพอใจ แต่ยังมีเด็กที่รับทุนมีความเปราะบางและภูมิต้านทานต่ำ เมื่อเจอปัญหาและอุปสรรคเช่น เรื่องการปรับตัวฯลฯ ก็จะหมดกำลังใจเรียนต่อ ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรครูจึงมีส่วนสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันได้ และเพื่อป้องกันปัญหา กสศ. จึงได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือดูแลปัญหาสภาพจิตใจของเด็กกลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้สามารถมีพลังในการเรียนต่อจนจบหลักสูตรได้ ทั้งนี้ หากเด็กสามารถเรียนจบตลอดหลักสูตรตามเป้าหมายที่วางไว้ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากการทำงานของ กสศ. ที่ผ่านมา สามารถสรุปออกมาได้4 ข้อสำคัญ คือ1.กสศ.เข้าใจความเป็นมนุษย์และเข้าใจสภาพแวดล้อมของเด็กที่ยากจน 2.นำหลักการของยุทธศาสตร์ชาติมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ 3.เจาะลึกเข้าถึงพื้นที่ที่มีปัญหาจริง และ4.ใช้การศึกษาเพื่อให้เกิดไอเดียและนวัตกรรมนำไปสู่การประกอบอาชีพได้ ซึ่งทั้ง 4 เรื่องต้องชื่นชมที่ กสศ.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยินดีให้การสนับสนุนกสศ.และต่อยอดโครงการเพิ่มเติมซึ่งเราพร้อมร่วมมือต่อไป
ขณะที่ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ระบบทุนการศึกษาในประเทศไทยใช้ระบบทุนสากล ที่ส่งเสริมให้ทุนการศึกษาเด็กตั้งแต่แรกเกิด แต่เมื่อเด็กต้องการศึกษาขั้นสูง การให้ทุนจะมีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา เราจึงอยากยกตัวอย่างทุนของโปรเกสซ่า ที่เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโก เป็นทุนการศึกษาที่ทุนเรียน พร้อมยกระดับความเท่าเทียมระหว่างเพศ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และการได้รับสารอาหารครบถ้วน ซึ่งทุนดังกล่าวมีเงื่อนไขเพียงส่งเด็กเข้าไปเรียน และเข้าตรวจสุขภาพเท่านั้น ทั้งนี้ หลักการง่ายๆช่วยส่งผลให้อัตราการเข้าเรียนของเด็กเพิ่มขึ้น เป็นทรัพยากรที่ดีของประเทศ แม้ทุนนี้จะใช้ต้นทุนสูงแต่ก็ถือว่าคุ้มกับการลงทุน เพราะทุนนวัตกรรมสายอาชีพรุ่นที่1 ที่กำลังจะจบการศึกษา จะมีผลตอบแทนคืนกลับมาให้กับประเทศสูง ถึง 680 ล้านบาท(ตลอดชีวิต) หรือเทียบเท่ากับการลงทุนที่ได้ผลกำไรร้อยละ60 นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ได้รับทุน เราจะทำอย่างไรถึงจะขยายวงกว้างให้เด็กที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมสามารถเข้ามารับทุนนี้ได้
No comments:
Post a Comment