เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินมาตรการสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยอนุมัติวงเงิน 1,500 ล้านบาท ในส่วนที่ธนาคารออมสินขอชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินเริ่มทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ หรือเสริมสภาพคล่องให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ โดยมีรายละเอียดมาตรการ ฯ ดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1)ผู้เริ่มประกอบอาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย เช่นผู้ผ่านการอบรมอาชีพ “ช่าง” ทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้าช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ เป็นต้น และผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เช่น เสริมสวยหรือตัดผมชาย คนขายของออนไลน์ เป็นต้น โดยมีใบประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหรือเอกสาร อื่นๆตามประเภทของอาชีพหรือมีประสบการณ์ ในการประกอบอาชีพดังกล่าว
2) ผู้ประกอบการขนาดย่อม ที่มีสถานที่จำหน่ายแน่นอน เช่นค้าปลีก ค้าส่ง โชห่วย แฟรนไชส์ เป็นต้น โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไซส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่น ๆ และ
3) ผู้ขับขี่รถสาธารณะ เช่น ผู้ขับขี่รถแท็กซี่รถตู้สาธารณะ รถขนส่งสินค้า รถบรรทุก โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะหรือเอกสาร อื่นๆตามประเภทของอาชีพ
-วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท
-วงเงินสินเชื่อ ไม่เกินรายละ 300,000 บาท
-ระยะเวลาการขอยื่นสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึง 30 กันยายน 2565
- ระยะเวลาการกู้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 5 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก)
- อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะคลี่คลายแต่ ยังมีประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งรายได้ลดลง ขาดเงินทุนสำหรับการมาเริ่มประกอบอาชีพใหม่ หรือต้องการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ดังนั้น คณะรัฐมนตีจึงเห็นชอบให้ ธนาคารออมสินดำเนินมาตรการสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งธนาคารออมสินยังจะจัดให้มีการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินละยกระดับทักษะในการประกอบอาชีพให้กับลูกค้า รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์การค้าและสถานที่จำหน่ายสินค้า
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าว จะช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ประมาณ 60,000 ราย
ขอบคุณภาพจาก ธนาคารออมสิน
No comments:
Post a Comment