รายได้ไม่พอกิน หนี้สินบาน! "แท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์" ยุคโควิด อาการหนัก - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Friday, September 3, 2021

รายได้ไม่พอกิน หนี้สินบาน! "แท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์" ยุคโควิด อาการหนัก


    จับชีพจรแท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์ยุคโควิด อาการหนัก รายได้ไม่พอกิน หนี้สินบาน เกินครึ่งทิ้งรถกลับภูมิลำเนา วอนรัฐช่วยคุยไฟแนนซ์ พักหนี้ หาช่องลดค่าเชื้อเพลิง ด้าน “นักวิชาการแรงงาน” หนุนรวมตัวสร้างอำนาจการต่อรอง ย้ำรัฐบาลต้องดูแลให้ทุกกลุ่มอาชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี  

 

    เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัด เสวนาออนไลน์ “แท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซต์ ลมหายใจยุคโควิด-19” โดยนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานมูลนิธิเพื่อคนขับรถแท็กซี่ นายไสว ไพรศาล ผู้แทนเครือข่ายสามล้อไทย นายวสันต์ ศรีมาก เครือข่ายวินมอไซค์ ขับขี่ปลอดภัยใจอาสา และศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา
 

    นายวิฑูรย์ กล่าวว่า คนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด จัดเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเปราะบาง และเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบเมื่อเจอวิกฤตใหญ่ๆ ในอดีตทั้งไข้หวัดนก ซาร์ แม้แต่ปัญหาเศรษฐกิจ ผลกระทบคิดเป็น 20% แต่การระบาดของโรคโควิด-19 นั้นถือว่าหนักสุด นานสุดเท่าที่เคยเผชิญวิกฤตมา สร้างผลกระทบกับคนขับแท็กซี่กว่า 80%อย่างกรณีมีการติดเชื้อที่ประเทศจีนทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดฮวบ แท็กซี่ก็ได้รับผลกระทบ ซ้ำยังพบแท็กซี่ติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นรายแรกของประเทศ ทำให้รัฐบาลออกมาตรการมากมาย กระทบกับเราโดยตรง ทั้งงดเดินทาง ปิดสนามบิน ปิดสถานีขนส่ง ซึ่งที่ผ่านมาพยายามปรับตัวกันมาตลอด แต่หลายคนไปต่อไม่ไหว ทำให้คนขับแท็กซี่กว่า 8.3 หมื่นคัน เลิกขับรถกลับภูมิลำเนาไป 6 หมื่นคน เหลือให้บริการ 2 หมื่นคัน ที่ยังไม่มีที่ไป จึงต้องอดทนอย่างหนัก หาเงินได้ไม่เกิน300-400 บาทต่อวันจากการออกมาขับรถ10กว่าชั่วโมง เติมแก๊ส200 บาทเหลือ100 บาท กินใช้ระหว่างทางทั้งวัน เหลือเข้าบ้าน30-40 บาท ไม่สามารถใช้ชีวิตในกทม.ได้ ถ้าสถานการณ์นานกว่านี้สัก10 วันพวกเราคงเหลือจำนวนน้อยกว่านี้ เพราะสายป่านสั้น
 


    ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้นำแท็กซี่ไปจอดหน้ากระทรวงต่างๆ และยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขอให้แก้ปัญหา7ข้อ โดยข้อหลัก คือในจำนวนคนที่เลิกขับ 6 หมื่นคน ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเช่าซื้อ พอส่งคืนอู่รถ อู่รถยังต้องมีภาระกับไฟแนนซ์อยู่ จึงอยากให้รัฐเจรจาไฟแนนซ์ให้พักชำระหนี้ รวมถึงให้การช่วยเหลือคนขับด้วยเพราะเดือดร้อนหนัก บางคนฆ่าตัวตายไม่มีคนรู้สาเหตุ แต่เขียนจม.บอกว่าอยากเห็นลูกบวช แต่อยู่ไม่ไหวเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน เช่าซื้อรถ ไม่มีเงินเหลือเข้าบ้าน นี่คือคำจำกัดความว่าลำบากขนาดไหนที่ชีวิตไปต่อไม่ได้ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะไม่ทราบเลยหากเราไม่ทำอะไรสักอย่างและสะท้อนไป วันนี้รัฐบาลรับทราบบ้างแล้ว แต่จะช่วยแค่ไหนก็อีกเรื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเป็นหัวใจหนึ่ง วันนี้แท็กซี่หาเงินได้ 300 บาทเติมแก๊ส 200 บาท เหลือ 100 บาท ดังนั้นอยากขอให้ช่วยลดค่าเชื้อเพลิง เพื่อต่อชีวิตให้คนเหล่านี้เหลือเงินซื้อข้าวก่อนได้ไหม อย่าให้เขาอดตาย ในขณะที่ปตท.เอากำไรเข้าหลวงมหาศาล ถามว่าต้องเอาขนาดนี้เลยหรือในยามวิกฤติ ยังดีที่กระทรวงแรงงานก็ให้เข้ามาตรา 40 ได้เยียวยามา 5,000 บาท และได้ถุงยังชีพ จึงพอประทังได้บ้าง
 

    นายวสันต์ กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เดือดร้อนกันทุกอาชีพ ส่วนตัวขับจักรยานยนต์รับจ้างอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยหอการค้า เดิมรายได้วันละ700-800 บาทแต่ทุกวันนี้ได้ไม่ถึง 300 บาท ทุกวันนี้ตื่นเช้ามาก็คิดว่าจะมีลูกค้าหรือไม่ แต่ก็ต้องออกมาวิ่ง อย่างน้อยก็ยังพอให้มีรายได้ไปใช้จ่ายในครอบครัว แค่ได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่ต้องคิดถึงเงินเก็บ เพื่อนๆ บางคนต้องปล่อยเสื้อวิน และไปขับแกร๊บ ส่งอาหาร บางคนก็กลับภูมิลำเนา บางคนเสื้อว่าง ทำให้ตอนนี้เหลือเสื้อวินเพียง 30 ตัว จากปกติ 60 ตัว แต่ก็ยอมรับว่ามีบางคนไม่ปรับตัว ยังใช้ชีวิต กินดื่มเหมือนเดิมเป็นหนี้เป็นสินเพราะไปยืมเงินมาใช้ ซึ่งจุดนี้ก็สำคัญเราต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงด้วย และในสถานการณ์ลำบากอยากเรียกร้องให้รัฐบาลลดค่าน้ำมันด้วย เพื่อเป็นการลดรายจ่ายอีกทาง 



    ขณะที่ นายไสว กล่าวว่า สามล้อรับจ้าง ตอนนี้ย่ำแย่มาก โควิดรอบสามยังมองไม่เห็นทางเลย ถึงขั้นกลัวว่าสามล้อจะหายสาบสูญเหลือเพียงตำนาน เช่น ที่หัวลำโพงเดิมมีกว่า 50-60 คัน แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 15 คัน บางคนถูกยึด บางคนส่งคืนเถ้าแก่ บางคนกลับต่างจังหวัด ส่วนตัวที่ทนอยู่เพราะมีลูกหลานทำงาน และเรียนอยู่ในกทม.เลยต้องสู้ คิดตลอดว่าออกมาแล้วจะมีลูกค้าหรือไม่ เพราะบางครั้งออกมา 3 ชั่วโมงยังไม่ได้ลูกค้าสักคน จากก่อนยุคโควิด วิ่งที่หัวลำโพงได้ขั้นต่ำ 600-700 บาท แต่ทุกวันนี้วันละ 200 ยังไม่ได้ ถ้าได้ 300 บาท ถือว่าฟลุ๊ค แต่ก็ต้องออกมาขับถึงเสี่ยงแต่ดีกว่าอยู่ที่บ้านแล้วไม่มีอะไรกิน ส่วนเจ้าของอู่บางรายก็ช่วยเหลือบางรายก็ไม่ช่วยเหลือ บางคนไม่คิดค่างวดรถเลย บอกว่าให้หมดโควิดค่อยคิดใหม่ ส่วนตัวอยากให้รัฐช่วยลดค่าเชื้อเพลิง แต่หากสถานการณ์แย่ลงกว่านี้คุยกับเพื่อนๆ ว่าจะกลับต่างจังหวัด การรวมตัวเพื่อเรียกร้องการช่วยเหลือนั้นอาจจะลำบากเพราะเพื่อนๆ ที่เหลืออยู่ก็ไม่มากแล้ว
 

    ด้าน ศาสตราภิชาน แล กล่าวว่า โควิดทำให้ทุกคนลำบากหมด แต่ความลำบากของคนไม่เท่ากัน ข้าราชการ คนทำงานออฟฟิศ หรือแม้แต่ลูกจ้างรายวันถึงเป็นคนต่างด้าว แต่ถ้าเข้างานวันนั้นย่อมมีรายได้ แต่คนขับรถรับจ้าง ถึงแม้จะออกมาขับรถทุกวัน แต่รายได้ก็ไม่มาก ดังนั้นเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาภัพที่สุด ไม่มีหลักประกันอะไรเลย ปัญหาคือนอกจากขาดรายได้แล้ว รายจ่ายเดิมก็ไม่ได้ลดลง เรียกว่าขาดทุน ดังนั้นในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย รัฐบาลจะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีความทัดเทียมกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ แน่นอนระยะสั้นรัฐบาลเอาเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา40 เพื่อให้ได้รับเยียวยา แต่ก็เหมือนบีบบังคับให้เข้าระบบประกันสังคม แต่จริงๆ ต้องมีอะไรที่มากกว่านั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย 


    อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งคือคนทำอาชีพอิสระหลุดจากการคุ้มครองของรัฐ และไม่มีอำนาจจะไปต่อรอง ดังนั้นตนเห็นว่าสิ่งที่กลุ่มแท็กซี่ไปจอดที่กระทรวงต่างๆ นั้นถูกแล้ว นั่นไม่ใช่การร้องขอ แต่เป็นการต่อรอง ปัญหาคือกลุ่มอื่นๆ เอาด้วยหรือไม่ นี่ก็เพื่อการสร้างตัวตนให้รัฐบาลได้เห็นว่าเราเป็นราษฎรไทย เป็นอีกกลุ่มอาชีพที่รัฐบาลจะละเลยไม่ได้ รัฐบาลต้องดูแลให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี อย่างแท็กซี่ต่างประเทศไม่ใช่แค่มีกิน แต่มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคามิเตอร์สมเหตุสมผล ดังนั้นนอกจากเรียกร้องการลดราคาเชื้อเพลิงแล้ว ตนเห็นว่าควรมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง หากเข้มแข็งจะสามารถต่อรองในเรื่องต่างๆ ได้ตั้งแต่ต้นทาง ปลายทาง

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages