“สัณหพจน์” ลุยแก้ปัญหา“ปาล์มน้ำมัน”ภาคใต้ เบรกผลศึกษากรมการค้าภายใน - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Wednesday, September 15, 2021

“สัณหพจน์” ลุยแก้ปัญหา“ปาล์มน้ำมัน”ภาคใต้ เบรกผลศึกษากรมการค้าภายใน


   
ประธานอนุ กมธ.ปาล์มน้ำมัน พร้อมคณะ กมธ. ที่มีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ เป็นประธาน ลงพื้นที่ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงการขาดทุน และการบริหารจัดการหนี้กว่า 1,000 ล้านบาท หวั่นส่งผลกระทบเกษตรกรชาวสวนปาล์มภาคใต้ พร้อมติดเบรกผลการศึกษาโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน ของกรมการค้าภายใน ตั้งข้อสงสัยช่วยโรงงาน หรือเกษตรกร

    ดร.สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาโครงสร้างราคาการตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์ม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ (กมธ.ปาล์มน้ำมัน) เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่จ.กระบี่ พร้อมคณะกมธ. เพื่อตรวจสอบกระบวนการและโครงสร้างการรับซื้อปาล์มน้ำมันดิบ และปัญหาหนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด

    ทั้งนี้ความคืบหน้า กรณีปัญหาขาดทุนของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงเรื่องความโปร่งใสในการบริหาร

    สำหรับกรณีปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสหกรณ์ปาล์มน้ำมันจำนวน 13 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้รวม 5 จังหวัดได้แก่ จ.กระบี่ ตรัง พังงา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสมาชิกกว่า 20,000 คน รวมไปถึง เจ้าหน้าที่และแรงงาน ของชุมนุมสหกรณ์ฯ เอง และเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนอีก 17 แห่ง ซึ่งชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ค้างชำระหนี้ค่าผลปาล์มสดกว่า 31 ล้านบาท

    “ปัญหาเรื่องการจัดการหนี้สินของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งมีหนี้สินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงทำให้ต้องมีการขายโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันเพิ่ม เป็นแห่งที่ 2 แต่ก็ปรากฏว่า กรรมการฯ ยังไม่ความเข้าใจในส่วนกฎหมาย พ.ร.บ.สหกรณ์ มาตรา 20 ถ้าที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการดําเนินการสหกรณ์ ลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบหรือคําสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ให้นายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอํานาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอนมตินั้นได้

    กมธ.จึงได้เชิญ นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ข้อมูลและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยมีประเด็นเรื่อง การเป็นกรรมการ มีหน้าที่กำหนดราคาซื้อขายโรงงานเอง และซื้อขายให้กับบริษัทที่ตนเองเป็นกรรมการมีอำนาจลงนามเอง โดยไม่ผ่านมติของที่ประชุมใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 20,000 คน ซึ่งผิดหลักการตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปดูแล และให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องเกษตรกร

    ในส่วนของการจ่ายหนี้สินพบว่า ชุมนุมสหกรณ์ มีหนี้สินที่ค้างชำระให้กับ ธ.ก.ส. เกือบ 700 ล้านบาท ที่สำคัญยังเป็นหนี้ค้างชำระค่าผลปาล์มสด กับสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนอีก 17 แห่งมูลค่ากว่า 31 ล้านบาท รวมทั้งเจ้าหน้าที่และแรงงานอีก 323 คน กว่า 63 ล้านบาท โดยเฉพาะหนี้ของชาวสวนปาล์มน้ำมัน เจ้าหน้าที่และแรงงานนั้น ผมได้ให้ความคิดเห็นว่าควรจะต้องได้รับการเยียวยาก่อนเป็นอันดับแรก” ดร.สัณหพจน์ กล่าว

    กรณีนี้ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีผู้เสียหายทั้งในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ 13 แห่ง ในชุมนุมสหกรณ์ฯ และสหกรณ์-วิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีก 17 แห่ง รวมผู้ได้รับผลกระทบอาจสูงถึง 20,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เจ้าหน้าที่และแรงงาน ที่มีรายได้หลักของครอบครัวจากส่วนนี้ ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบจำเป็นที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบดูแลอย่างจริงจัง

    ด้านเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน แม้ว่าปัจจุบันราคาปาล์มทะลายจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก อนุกมธ. ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มของรัฐบาล แต่คณะอนุกมธ.เห็นว่า ยังต้องมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มทั้งระบบ เพื่อให้คงราคาในต่ำกว่า 5 บาท ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน

    กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “มาเลเซียโมเดล” ที่พบว่ามีการวิเคราะห์และจัดทำโครงสร้างราคาผลผลิตจากปาล์มน้ำมันทั้งระบบ โดยใช้เปอร์เซ็นต์การให้น้ำมัน (Oil Extraction Rate : OER) ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงความสามารถการให้น้ำมันปาล์มของผลปาล์ม และจ่ายราคาในแต่ละส่วน เช่น ชั้นเนื้อปาล์ม (Mesocarp) มี %OER ที่ 24% ชั้นกะลา (Shell) มี %OER เฉลี่ยที่ 7% และชั้นเมล็ดใน (Kernel) มี %OER ที่เฉลี่ย 6% แต่ต้องไม่ใช่การศึกษาและจัดทำโครงสร้างจากข้อมูลต้นทุนการผลิตของโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม

    “ที่ผ่านมากรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำการศึกษาข้อสรุปของโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มทั้งระบบในประเทศ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลต้นทุนการผลิตของโรงงานบีบสกัดน้ำมันปาล์มกว่า 30 แห่ง แล้วเอามาหาค่าเฉลี่ย เพื่อคิดเป็นต้นทุนค่าผลิต ซึ่งผิดต่อหลักการที่จะเอามาใช้เป็นสูตรในการคำนวณโครงสร้างราคา โดยค่าบีบน้ำมัน โรงงานของไทยที่เสนอมาอยู่ที่ 3-5 บาท ในขณะที่มาเลเซีย มีราคาค่าบีบน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท/กก.

    กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในภาคใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่และมีผลงานการศึกษาวิจัยเรื่องของปาล์มน้ำมัน เป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงไม่ว่าจ้างให้ทำการศึกษา โดยที่กรมการค้าภายในไม่ยอมเข้าให้ข้อมูลในกรณีดังกล่าว และอ้างว่า จะต้องให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) อนุมัติเสียก่อน จึงเป็นที่น่าสงสัย ถึงความโปร่งใส และความจริงใจในการทำงานของกรมการค้าภายใน ต่อการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน

    ดังนั้นเมื่อนำโครงสร้างราคาที่ตั้งต้นมาจากต้นทุนผลิตของโรงงาน มาใช้ในการรับซื้อผลปาล์มดิบ ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่โรงงาน ทำให้โรงงานน้ำมันปาล์มในไทย คืนทุนเร็วภายใน 4 ปี มีกำไรกว่า 100 ล้านในทุกปี แต่พี่น้องเกษตรกรกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อพี่น้องเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เลิกทำสวนปาล์ม เพราะต้นทุนการปลูกสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ย และค่าจ้างแรงงาน บวกกับโรงงานกดราคารับซื้อ ก็จะไม่มีผลผลิตเข้าไปป้อนโรงงาน ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงาน โรงงานน้ำมันปาล์ม รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศซึ่งเป็นผู้บริโภค” ดร.สัณหพจน์ กล่าวในตอนท้าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages