รายงาน ไข่ไก่ไร้กรง EggTrack ฉบับที่ 6 ประจำปี 2565 โดยองค์กรการกุศลด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เผยแพร่ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ชี้ให้เห็นว่าบริษัทจำนวนมากขึ้นกำลังทำตามคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับไข่ไก่ไร้กรง องค์กรการกุศลด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้ขับเคลื่อนนโยบายไข่ไก่ไร้กรงจากระดับท้องถิ่นไปสู่ระดับโลก ในปีที่ผ่านมา บริษัทจำนวนมาก เช่น Pizza Express, Yum! Brands, และ Blooming’ Brands ได้ประกาศคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับไข่ไก่ไร้กรง
รายงาน EggTrack ได้วัดผลและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของระบบไข่ไก่ไร้กรง โดยรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการให้คำมั่นในการจัดหาไข่ไก่ไร้กรงในอุตสาหกรรมอาหารหลักของโลก รายงานนี้ส่งผลให้เกิดความโปร่งใส และส่งเสริมให้เกิดการสนทนากันระหว่างธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบไข่ไก่ไร้กรง 100% ในอนาคต
แบรนด์ไทยรวมอยู่ใน EggTrack เป็นครั้งแรก
รายงาน EggTrack ได้สังเกตการณ์บริษัท 232 แห่ง และเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงบริษัทในประเทศไทย เช่น Food Passion และ Lotus จากบริษัททั้งหมด 232 แห่ง บริษัท 175 แห่ง (75.4%) ได้รายงานความคืบหน้าของคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการจัดหาไข่ไก่ไร้กรง โดยมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นจาก 71% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมีอัตราการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบไข่ไก่ไร้กรงที่ 79.1% บริษัทที่ได้ส่งรายงานความคืบหน้าระดับโลกมีการจัดหาไข่ไก่ไร้กรงเพิ่มขึ้นจาก 55.2% ในปี 2564 เป็น 63.1% ในปี 2565
ในปี 2565 บริษัทจำนวน 34 แห่ง (58.6%) จากบริษัทที่ให้คำมั่นสัญญาในระดับโลกทั้งหมด 58 แห่ง ได้รายงานความคืบหน้าของคำมั่นสัญญาของพวกเขา เรายังพบการให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับไข่ไก่ไร้กรงจากบริษัทใหม่ ๆ เช่น Blooming’ Brands, Darden Restaurants, Focus Brands, Pizza Express, Royal Caribbean International, The Cheesecake Factory, Wyndham Hotels & Resorts, และ Yum! Brands
ความคืบหน้าทั้งหมดนี้ควรได้รับการชื่นชมอย่างสูง เพราะเรายังอยู่ท่ามกลางผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สงครามในประเทศยูเครน และผลกระทบจากเงินเฟ้อ และการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI)
Danone เป็นบริษัทที่ประสบผลสำเร็จในการผลิตแบบไข่ไก่ไร้กรง 100% ในธุรกิจระดับโลก และได้รับเลือกให้เป็นผู้มอบคำนำให้กับรายงาน EggTrack ฉบับนี้
Cees Jan Hollander ผู้จัดการธุรกิจฟาร์มระดับโลกของ Danone กล่าวว่า “Danone ได้มุ่งเน้นเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์มานานหลายปี โดยเป็นนโยบายหลักของกลยุทธ์การเกษตรฟื้นฟูของบริษัท ในตอนที่บริษัทได้ให้คำมั่นสัญญาในเกี่ยวกับไข่ไก่และส่วนผสมจากไข่ไก่ไร้กรง เราทราบดีว่าความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นในเพียงข้ามคืนและเราต้องทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด แต่เราก็ไม่ย่อท้อเรื่อยมาจนเราใช้ไข่ไก่ไร้กรงได้ 100% ในปี 2563”
“การติดตามและการรายงานความก้าวหน้าของเราเป็นวิธีสำคัญในการเพิ่มความรับผิดชอบภายในบริษัท และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคและผู้ลงทุนในด้านความโปร่งใสและการพัฒนา โดยเราใช้เกณฑ์มาตรฐานเช่น เกณฑ์การดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม หรือ Business Benchmark on Farm Animal Welfare (BBFAW) สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเราในตอนนี้คือการที่ไข่ไก่ไร้กรงได้กลายเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ต้องขอบคุณการติดตามผลโดยองค์กรการกุศลด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่ช่วยให้เรามองเห็นภาพนี้ได้อย่างชัดเจน”
ตลาดเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดไข่ไก่ไร้กรงที่เติบโตเร็วที่สุดเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และรายได้หลังหักภาษี ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตไข่ไก่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีรายงานว่าสัตว์หลายล้านตัวยังคงถูกเลี้ยงในกรงเก่าทรุดโทรม ข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ระบุว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีไก่ไข่ประมาณ 50 ล้านตัว และมีผลผลิตไข่ไก่ประมาณ 40 ล้านฟอง ต่อวัน ในปี 2561 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หนึ่งในกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารชั้นนำของโลก ประกาศความมุ่งมั่นในการยกเลิกการเลี้ยงไก่ไข่แบบขังกรงในฟาร์มไก่ไข่ทุกแห่งของบริษัทในประเทศไทย จากประกาศดังกล่าว CP Foods ได้ร่วมกับผู้ผลิตไข่ไก่ชั้นนำในประเทศไทย เช่น เบทาโกร และ แสงทองสหฟาร์ม ในการจัดหาไข่ไก่จากการเลี้ยงแบบมีสวัสดิภาพให้กับตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่านโยบายนี้จะไม่มีกำหนดเวลา แต่ CPF ได้เพิ่มการผลิตไข่ไก่ไร้กรงอย่างต่อเนื่องใน ทุก ๆ ปี และบริษัทตั้งเป้าผลิตไข่ไก่ไร้กรงจำนวน 20 ล้านฟอง ในปี 2565
ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ได้ประกาศความมุ่งมั่นในการจัดหาไข่ไก่ไร้กรง 100% บริษัทสยาม แม็คโคร ธุรกิจค้าส่งรายใหญ่ภายใต้ CP Group ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในนโยบายความยั่งยืนขององค์กร แต่บริษัทก็ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาพร้อมขอบเขตและกำหนดเวลาที่ชัดเจน เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ได้ประกาศยกเลิกการจำหน่ายไข่ไก่จากการเลี้ยงแบบขังกรงเพียงแค่ 50% เท่านั้น ถึงแม้ธุรกิจค้าปลีกจะไม่ได้ประกาศคำมั่นสัญญาโดยทั่วไป แต่ไข่ไก่ไร้กรงนั้นสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ
ความต้องการของไข่ไก่ไร้กรงกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทไม่ควรใช้การเลี้ยงไก่บางระบบเช่นระบบผสมหรือระบบปิด เพราะระบบเหล่านี้จะจำกัดการเคลื่อนที่ของแม่ไก่และนี่ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านจากการเลี้ยงไก่แบบขังกรง ด้วยเหตุนี้ องค์กรการกุศลด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้ขอให้บริษัทเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาไข่ไก่ไร้กรงของพวกเขาพร้อมระบุว่าพวกเขาจะไม่ใช้ระบบการเลี้ยงไก่แบบผสมหรือแบบปิดในห่วงโซ่อุปทาน
มีบริษัทจำนวน 24 แห่ง ในรายงานประจำปีนี้ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าพวกเขาจะไม่ใช้ระบบเลี้ยงไก่แบบผสมในห่วงโซ่อุปทาน บริษัทเหล่านี้ประกอบด้วย ALDI Nord, Barilla, Bennet, Carrefour Spain, Chef Express, Coles Group, Coop Italy, Domino’s Pizza (อังกฤษ และ ไอร์แลนด์), E.Leclerc France, Eroski, Eurovo, Fattoria Roberti, GB Foods, Grupo Avícola Rujamar, Gruppo Sabbatani, Gruppo Selex, Huevos Guillén, Kroger, Marr, Meijer, Metro Group, Sammontana, Tesco และ Unilever
องค์กรการกุศลด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้คำแนะนำว่าหากบริษัทต้องการบรรลุเป้าหมายการผลิตไข่ไก่ไร้กรง 100% บริษัทต้องใช้นโยบายไข่ไก่ไร้กรงที่ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเปลือกไข่ ผลผลิต และไข่ไก่ที่ใช้เป็นส่วนผสม ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อหลักในรายงาน EggTrack ประจำปี 2565 รายงานฉบับนี้ได้เพิ่มหมวดหมู่ไข่ไก่ที่ใช้เป็นส่วนผสมเป็นครั้งแรกเนื่องจากมีการใช้ไข่ไก่เป็นส่วนผสมในอาหารแปรรูปจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่ไก่จำนวนมากเช่นกัน
อุตสาหกรรมไข่ไก่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตแบบไร้กรง และกำหนดเวลาในการเปลี่ยนผ่านกำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว บริษัทจำเป็นต้องร่วมมือกับซัพพลายเออร์ของพวกเขาเพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาได้ทำตามคำมั่นเกี่ยวกับไข่ไก่ไร้กรง โดยไม่ใช้วิธีการเลี้ยงแบบระบบผสมและระบบปิด ภายในระยะเวลาที่คาดการณ์ไว้
Dr.Tracey Jones ผู้อำนวยการระดับโลกขององค์กรการกุศลด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กล่าวสรุปว่า “แม้เราจะกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่บริษัททั้งหลายยังคงทำตามคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับไข่ไก่ไร้กรงของพวกเขา และบริษัทเหล่านี้ควรได้รับการชื่นชม เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากที่เราเห็นการมีส่วนร่วมในพันธสัญญาของโลกจากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบไข่ไก่ไร้กรง“รายงาน EggTrack เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้รักษาความคืบหน้า ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน และกระตุ้นให้บริษัททำตามข้อกำหนด ในอนาคต บริษัทจะต้องทำตามคำมั่นสัญญาของพวกเขาสำหรับไข่ไก่ในทุกหมวดหมู่ และทำให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบไข่ไก่ไร้กรงของพวกเขานั้นตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
“การผลิตไข่ไก่ไร้กรงนั้นเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาด เพราะความต้องการจากผู้บริโภคและบริษัทอื่น ๆ จะช่วยเร่งการเติบโตของเทรนด์นี้”
ทีมงานขององค์กรการกุศลด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในภูมิภาคเอเชียสามารถให้การสนับสนุนธุรกิจอาหารในภูมิภาคที่สนใจจะให้คำมั่นสัญญาและเปลี่ยนผ่านสู่ระบบไข่ไก่ไร้กรง นอกจากนี้ บริษัทในระบบไข่ไก่ไร้กรงยังมีโอกาสในการได้รับรางวัลไข่ไก่ยอดเยี่ยม (Good Egg Award) อีกด้วย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Shunrakuzen หนึ่งในเครือข่ายร้านอาหารจากธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ได้รับรางวัลด้านอาหารและการทำฟาร์มที่ยั่งยืน (Sustainable Food and Farming Award) ระดับประเทศ และบริษัท Hilltribe Organics ได้รับรางวัลด้านอาหารและการทำฟาร์มที่ยั่งยืนจากการขับเคลื่อนไข่ไก่ออร์แกนิกและการเกษตรฟื้นฟูในประเทศไทย ทั้งสองบริษัทแสดงให้เห็นว่ากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในภูมิภาคเอเชียเพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพของแม่ไก่
No comments:
Post a Comment