ย้ำต้องขึ้นศาลพลเรือน ตั้ง กก.เอาคนนอกร่วมสอบ คืนความเป็นธรรมเหยื่อ พร้อมปฏิรูปทุกคดีที่เกี่ยวกับพลเรือน
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายทหารใช้อำนาจพยายามข่มขืนผู้เสียหายในบ้านพัก ผู้ถูกกระทำต้องพยายามอย่างมากในการช่วยเหลือตัวเองไม่ให้เรื่องเงียบ เพราะผู้กระทำมีอำนาจ มีอิทธิพล เด็กนาย และพ่อเป็นคนใหญ่โต เหมือนๆ กับหลายกรณีการคุกคามทางเพศในห้วงที่ผ่านมาทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากต้องใช้สื่อแขนงต่างๆ เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเริ่มทำงาน ดังนั้นตนขอเรียกร้องไปยังกองทัพบก ดังนี้ 1. คดีนี้ต้องไม่ขึ้นศาลทหาร เนื่องจากที่ผ่านมามูลนิธิฯ เคยเข้าไปช่วยเหลือเหตุการณ์ที่คล้ายกัน แต่เมื่อขึ้นศาลทหารกลับทำอย่างล่าช้า แนวโน้มจะช่วยเหลือกัน 2. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้กระทำ โดยมีผู้แทนหน่วยงานภายนอกร่วมเป็นกรรมการด้วย 3. กองทับบกต้องตั้งกลไกในการป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยา การคุกคามทางเพศในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้แก่บุคคลกร และ 4. ปฏิรูประบบยุติธรรมศาลทหาร คดีทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว หรือคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพลเรือนขอให้ใช้ศาลพลเรือน
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนวงจรอุบาทว์ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นซ้ำซากในสังคมไทย มีแบบแผนพฤติกรรมและเหตุการณ์ซ้ำเดิม เริ่มจากผู้กระทำผิดมักเป็นผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล ทั้งจากตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะทางสังคม ชื่อเสียง ฐานะการเงิน มาจากตระกูลดังครอบครัวร่ำรวย เป็นลูกคนนั้น เป็นหลานคนนี้ เป็นเด็กเส้น เด็กนาย เป็นคนโปรดของผู้หลักผู้ใหญ่ โดยผู้กระทำมักเลือกลงมือกับเหยื่อที่คิดว่าอ่อนแอ ไม่กล้าโวยวาย มีการข่มขู่ผู้เสียหายด้วย อย่างกรณีสิบเอกรายนี้ มีข่าวว่าเมื่อผู้เสียหายร้องเรียนและส่งหลักฐานคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุให้ต้นสังกัด แทนที่ผู้เสียหายจะได้รับการดูแลคุ้มครองจากหน่วยงาน กลับถูกกลั่นแกล้งและยัดเยียดความผิด ทำให้ผู้เสียหายกลายเป็นตัวปัญหาของหน่วยงานเสียเอง ตอกย้ำว่าสังคมไทยมีระบบสถาบัน ในกรณีนี้คือระบบราชการทหาร ที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงทางเพศด้วยการเพิกเฉยหรือกระทั้งปกป้องผู้กระทำผิดให้ลอยนวล ทำให้ผู้กระทำผิดย่ามใจ และกระทำผิดซ้ำ ๆ กับเหยื่อหลายคน
"กรณีดังกล่าวคือการพยายามข่มขืน เป็นความผิดอาญาชัดเจน แต่พอผู้กระทำผิดเป็นทหาร กลับยกเว้นไม่นำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรม แต่กลับนำคดีขึ้นศาลทหาร ทั้ง ๆ ที่ศาลทหารไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญการจัดการคดีอาญา โดยเฉพาะกรณีที่มีความละเอียดอ่อนอย่างความรุนแรงทางเพศ ประกอบกับท่าทีเพิกเฉยไม่เร่งรัดดำเนินการของหน่วยงานทหารที่ผ่านมา ทำให้คนในสังคมกังวลว่าการนำคดีนี้ขึ้นศาลทหารจะทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีการลงโทษตามสมควรแก่ความผิด หรืออาจถึงขั้นปกป้องผู้กระทำผิดก็เป็นได้ กลายเป็นว่าประเทศไทยกำลังใช้ระบบยุติธรรมอาญาสองมาตรฐาน ของพลเรือนทั่วไปแบบหนึ่ง ของทหารอีกแบบหนึ่ง ทั้งที่เป็นความผิดเดียวกัน ซึ่งระบบยุติธรรมสองมาตรฐานแบบนี้ควรถูกยกเลิกได้แล้ว และแม้ล่าสุดผู้ก่อเหตุจะถูกไล่ออกจาราชการแล้ว กระบวนการอื่นตามกฎหมายก็ต้องเร่งเดินหน้าทำความจริงให้ปรากฎ คืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียหาย" ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าว
No comments:
Post a Comment