ผลสำรวจพบครอบครัวไทยมีหนังสือในบ้านน้อย 34 % สุดห่วงครอบครัวรายได้น้อยขาดแคลนหนังสือ ชี้ทางแก้ รัฐต้องมีนโยบาย งบประมาณ และปฏิบัติแบบชุมชนต้องมีส่วนร่วม ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เดินหน้า “1 อ่านล้านตื่น” สานฝันเด็กซื้อหนังสือที่อยากอ่านได้เอง
จากการเสวนาวิชาการ “นโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัยด้วยวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อสร้างพลังสังคมแห่งอนาคต” ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 จัดโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และภาคีเครือข่าย กว่า 10 องค์กร ทั้งนี้ นางจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (Thailand Development Research Institute :TDRI) นำเสนอข้อมูลสำคัญว่า การอ่านหนังสือมีข้อดีอยู่ 7 ด้าน ประกอบด้วย
1. เกิดสายสัมพันธ์พิเศษระหว่างผู้อ่านกับเด็ก เพราะเวลาที่อ่านหนังสือแล้วมีเด็กอยู่บนตัก ดูหนังสือไปด้วยกันจะเกิดการแสดงความรักความผูกพันอันมาจากความใกล้ชิดกัน
2.เด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาการ จากการที่มีผู้อ่านหนังสือออกเสียงให้ฟัง เกิดการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ และฝึกการออกเสียงที่ถูกต้อง
3.เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของสมอง รู้วิธีการอ่านหนังสือว่าต้องอ่านจากซ้ายไปขวา อ่านจากบนลงล่าง และวางรากฐานการฝึกทักษะการใช้ชีวิตในสังคม สิ่งแวดล้อม ฝึกการควบคุมอารมณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในหนังสืออยู่แล้ว ดังนั้น หนังสือจึงเปรียบเสือนโลกใบใหม่ของเด็กในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกไปเผชิญกับสังคมภายนอก
4.เป็นการเพิ่มสมาธิ ฝึกวินัยให้กับเด็กเพราะเวลาที่อ่านหนังสือเด็กจะมีความสนใจอยากจะฟังต่อ
5.เกิดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ในระหว่างที่อ่านหนังสือให้ฟังนั้น เด็ก ๆ จะค่อย ๆ คิดตามไปทีละเรื่อง คิดต่อเนื่องเชื่อมโยงไปเรื่อย ๆ จนเกิดจินตนาการและเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ตามมา
6.ฝึกนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก เกิดความรัก หวงแหนหนังสือ เวลาไปไหนก็อยากจะเอาหนังสือไปด้วย
และ 7.สร้างความเป็นเลิศทางการเรียนรู้ จากการที่เด็กได้รับจากการที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังบ่อยๆ
ทั้งนี้ มีงานวิจัยจากการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 4 ปี ในกลุ่มพึ่งพิง ฐานะยากจน พบว่าการเลี้ยงลูกอย่างเต็มความสามารถ แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ “การอ่านของเด็ก” และ “การรู้จักคำศัพท์” ของเด็กพบว่า เด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง จะได้คะแนน 2 ส่วนนี้ ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง และจากการศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 ในโครงการ “หนังสือเล่มแรก” พบว่า การที่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังจะมีผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาจากต่างประเทศหรือการศึกษาในประเทศไทย มีความสอดคล้องกันคือ การอ่านหนังสือให้เด็กฟังมีความสำคัญมากๆ
นอกจากนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการทดสอบพัฒนาการเด็กเป็นระยะ ๆ ในแต่ละช่วงวัย พบว่าเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าค่อนข้างสูง อยู่ที่ 30% โดยเป็นพัฒนาการล่าช้าทางด้านภาษา พูดคำศัพท์น้อย พูดไม่ค่อยได้ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญมากกว่าด้านอื่น ๆ เพราะพัฒนาการทางด้านภาษาจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสามารถของเด็กเมื่อเข้าสู่ระดับการเรียนในชั้นที่สูงขึ้น
อีกด้านหนึ่ง เป็นการสำรวจเมื่อปี 2562 ของงานสถิติแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ค่อนข้างมีความหลากหลายทั้งทางด้านโภชนาการ ด้านการได้รับวัคซีน และด้านพัฒนาการเด็ก โดยในส่วนของพัฒนาการเด็กนั้น มีการสอบถามว่า ในบ้านมีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่มหรือไม่ ซึ่งผลสำรวจพบว่า มีครอบครัวเพียง 34%เท่านั้นที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ที่มีหนังสือในบ้าน ถือว่าน้อยมาก และเมื่อเทียบระหว่างคนที่มีฐานะดีและคนที่ฐานะยากจนที่สุด พบว่า ครัวเรือนที่ฐานะยากจนมีหนังสือสำหรับเด็กเพียง 14 %เท่านั้น เรียกว่าอยู่ในขั้นขาดแคลน
เมื่อถามต่อว่า เด็กในบ้านมีการเล่นหรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน กลับพบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 53% ซึ่งการที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก ๆ จะมีผลเสียตามมา คือ เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อ ซน ไม่เชื่อฟัง และมีผลทางด้านภาษา การเข้ากับคนอื่น และมีผลต่อสติปัญญาในอนาคตด้วย
นางเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทาง พอช.ได้มีการทำงานร่วมกับชุมชน กรุงเทพมหานครในการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ไปพร้อมๆ กัน โดยเน้นชุมชนเป็นแกนหลักเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถคิด และออกแบบการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ในทุกมิติ ในทุกเรื่อง เพราะชุมชนจะมีความรู้ ความเข้าใจสภาพปัญหา และความต้องการของคนในพื้นที่ของตัวเองดี จากนั้นก็มาพิจารณาวิธีแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้งบประมาณของชุมชนในการขับเคลื่อน และดูแลกันเองในเบื้องต้น อาทิ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกผัก เลี้ยงปลา เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งครัวกลางสำหรับคนในชุมชน ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาช่วยดูแลคนในชุมชน ซึ่งรวมถึงกลุ่มเด็ก ๆ ได้อีกด้วย
โครงการส่งเสริมการอ่านในชุมชนไม่ใช่แค่การทำให้ท้องอิ่มอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก และคนในชุมชน แต่ก็ต้องมีการพัฒนาหรือขยายโครงการเพิ่มเติม พอช. จึงช่วยในการประสานหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ประสาน สสส. พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และเอาเรื่องการอ่านเข้ามาเสริมเรื่องราวและวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย โดยจัดตั้งเป็นห้องสมุดเล็ก ๆ ในชุมชน ให้เด็กและผู้ปกครองสามารถมาอ่านหนังสือ หรือสามารถยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านได้ นอกจากนี้ก็มีการขยายองค์ความรู้ รูปแบบการทำงานไปสู่ชุมชนอื่น ๆ เพิ่มเติม เป็นการเชื่อมโยงเครือข่าย ซึ่งพบว่าหลายพื้นที่ หลายจังหวัด สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
“โครงการต่างๆ จะสำเร็จได้ เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โจทย์สำคัญคือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีการใช้ห้องสมุดและหนังสือเป็นสื่อในการสอนที่เชื่อมโยงคนในชุมชนร่วมดูแลเด็กเล็ก สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เด็ก ๆ จะมีความสุข”
นางสาวทิพย์สุดา ชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งทางบ้าน พ่อ แม่ ครู ในการช่วยเหลือเด็กให้เข้าถึงหนังสือ และอ่านหนังสือให้ฟัง ซึ่งจากการที่สำนักพิมพ์เข้าไปขายหนังสือในโรงเรียน เด็กอนุบาล ประถมศึกษาที่ 1 และ 2 มีความอยากอ่านหนังสือมาก ๆ แต่ผู้ปกครองไม่ให้ซื้อ เพราะมองว่าเป็นภาระที่ผู้ปกครองจะต้องอ่านให้ฟังอีก จึงไม่แปลกใจที่มีการสำรวจพบว่ามีครอบครัวที่มีหนังสือ 3 เล่ม เพียงแค่ 30% โดยส่วนหนึ่งผู้ปกครองอยากให้เด็กดู iPad เพราะพ่อ แม่ไม่ต้องทำอะไรเลย เด็กสามารถดูได้ด้วยตัวเอง
“เด็กป. 1 ป. 2 เวลามาซื้อหนังสือกับเราก็จะมาพูดคุยกับเราว่า ขอแถมอ่านให้ฟังได้หรือไม่ เพราะว่าที่บ้านไม่มีคนอ่านให้ฟัง พอเราอ่านให้ฟังจนจบเล่ม เขาก็เปิดหน้าหนึ่งใหม่บอกว่าสนุกมาก ขออ่านให้ฟังอีกรอบได้หรือไม่ เราก็จะเข้าใจความเหนื่อยของพ่อ แม่ที่จะต้องใช้เวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่ามีแค่หนังสือเพียงอย่างเดียวแล้วก็จบ แต่พ่อ แม่จะต้องใช้เวลากับลูก ชุมชน และครูต้องมีเวลากิจกรรมการอ่านกับเด็กให้เยอะขึ้น”
ทั้งนี้ นอกจากการให้เวลาในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังแล้ว “หนังสือที่น่าสนใจสำหรับเด็ก” ก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น สมาคมผู้จัดพิมพ์มีโครงการ “๑ อ่านล้านตื่น” ที่มี สสส. ร่วมสนับสนุน ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดการจากมองเห็นปัญหาการบริจาคหนังสือที่ไม่ได้ตรงกับความสนใจของเด็ก จึงมีแนวคิดในการบริจาคเป็นเงินสำหรับซื้อหนังสือที่เด็กสนใจอยากจะอ่านจริงๆ แม้ว่าตอนแรกถูกโจมตีว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นโครงการหวังผลในการเพิ่มยอดขายหนังสือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ วันที่มีเด็กกำเงินบริจาคมาหาเราเพื่อขอซื้อหนังสือภายในงาน เขาร้องไห้พร้อมกับบอกว่า ที่ผ่านมาเขาไม่เคยได้เลือกซื้อหนังสือที่อยากอ่านเองเลย เพราะไม่มีเงินซื้อหนังสือที่ถูกมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
ดังนั้นเราจึงรู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว เด็กเขาก็มีเรื่องที่เขาอยากอ่าน วรรณกรรมที่เขาอยากอ่าน เพียงแค่เรามีโอกาสรับบริจาค จึงรู้สึกว่าโครงการนี้จะช่วยสานฝันให้เด็กรักการอ่าน ได้อ่านในสิ่งที่เขาต้องการอ่าน ขณะนี้ก็มีการรับบริจาคอยู่ที่ เทใจดอทคอมและภายในงานสัปดาห์หนังสือฯ ด้วย
ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.happyreading.in.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่เพจ "อ่านยกกำลังสุข"
No comments:
Post a Comment