สส. และ อดีต สว. ประสานเสียง ต้านรัฐออกกฎหมายควบคุม NGO - Siam Highlight

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Responsive Ads Here

Friday, March 26, 2021

สส. และ อดีต สว. ประสานเสียง ต้านรัฐออกกฎหมายควบคุม NGO


   ชี้เป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพกิจกรรมเพื่อสังคม เพิ่มบทลงโทษอาญา ชี้ หวังปิดปาก ลดบทบาทตรวจสอบโครงการรัฐ หวั่น นายทุนกินรวบ ชี้ ขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา สวนแนวทาง“ประชา+รัฐ”
 

     สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัด 8 จังหวัด จัดงาน เสวนา “ประชาสังคม : ควบคุม VS ส่งเสริม” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “ประชาสังคมจังหวัด หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
  

     นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งกัน พ.ศ. .... หรือเรียกได้ว่าเป็น พรบ.ควบคุมNGO ฉบับดังกล่าว มีฐานคิดแบบอำนาจนิยม เพราะหากมีฐานคิดแบบประชาธิปไตย จะเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถือเป็นสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย การที่รัฐคิดจะออกกฎหมายควบคุมการทำงานของภาคประชาชน ทำให้ประชาชนถูกลดบทบาทการมีส่วนร่วม ซึ่งการบริหารขับเคลื่อนประเทศไม่ได้มีเฉพาะรัฐ แต่ภาคประชาสังคมหรือ NGO ก็มีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศได้ การควบคุม NGO ด้วยกฎหมายลักษณะนี้ มีผลกระทบแน่นอน เพราะกลายเป็นรัฐราชการอย่างเดียว ภาคประชาชนก็เสียประโยชน์ การรวมเป็นกลุ่มก้อนหายไป การบริหารประเทศจะถูกกำหนดโดยรัฐเพียงลำพัง ทั้งที่รัฐบาลประกาศว่าขับเคลื่อนประเทศด้วยการเป็นประชารัฐ จะต้องมีทั้งรัฐและประชาชน ร่วมกันทำงานแบบหุ้นส่วน การตัด NGO ออกทำให้ขัดแย้งกับนโยบาย ไม่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่ง NGO ช่วยให้รัฐทำงานอย่างรอบคอบ คำนึงถึงเสียงของประชาชนมากขึ้น
 

    “น่าเป็นห่วงบทบาทของ NGO ต่อจากนี้ ประชาชนต้องตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่จะเสียไป โดยเฉพาะการทัดทานอำนาจของรัฐในโครงการที่ประชาชนได้รับผลกระทบ เพราะแม้ว่าประชาชนจะตระหนักรู้ถึงปัญหา แต่ เสียงไม่ดังพอ ไม่มีฐานข้อมูลที่ดีพอที่จะต่อรองกับภาครัฐได้ ในอนาคตจึงเสี่ยงที่จะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำสูง เพราะถูกกลุ่มทุน กลืน ผ่านโครงการได้อย่างสบาย ไร้การทัดทาน จึงต้องคุ้มครองสิทธิประชาชน” นายสุทิน กล่าว
 


    นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดย ครม. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็น หรือประเมินผลกระทบของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยตรง หากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ องค์กรภาคประชาสังคมจะต้องขออนุญาตทุกกิจกรรมที่ทำ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ก็ตาม ถือเป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ที่สำคัญมีบทลงโทษรุนแรง เป็นโทษอาญา ทั้งจำและปรับ
 

    “ภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ... โดยมีเจตจำนงเพื่อให้เกิดกลไกการพัฒนาคนทำงานภาคประชาสังคม แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ขณะที่ร่างพ.ร.บ. ฉบับที่ครม. เห็นชอบ มีการใช้ถ้อยคำในกฎหมาย ที่เป็นภาษาโบราณว่า ไถยจิต ที่หมายความว่า จิตที่จะคิดลักขโมย แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ออกกฎหมาย และอคติที่มีต่อภาคประชาสังคม ขณะที่ปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคม ปฏิบัติตามกฎหมายที่ควบคุมอยู่แล้ว เช่น การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล องค์กร หรือมูลนิธิ มีการตรวจสอบการเสียภาษีอยู่แล้ว หรือหากรัฐเห็นว่าองค์กรจัดตั้งมาอย่างไม่สุจริตหรือหลอกลวง ก็สามารถใช้กฎหมายอื่นๆ ควบคุมได้ ” นายไพโรจน์ กล่าว
 


    นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะ มาตรา 42 ที่ระบุว่า ที่บุคคล มีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น จะจำกัดเสรีภาพไม่ได้ และมาตรา 26 ที่ระบุถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่ม ภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งการออกกฎหมายเพื่อควบคุมไปถึง องค์กรที่รวมตัวกันในรูปแบบคณะบุคคล การรวมตัวของบุคคลที่รวมกันในลักษณะองค์กรชุมชน ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบกฎหมายที่ควบคุมสมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องเกิดกว่าเหตุไปมาก เพราะหากรวมตัวกัน 3-4 คนทำกิจกรรมทางสังคม จะต้องจดแจ้ง ตรวจสอบบัญชี มิฉะนั้น อาจจะเจอโทษอาญาทั้งจำและปรับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตจำนงต้องการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน
 

    “กฎหมายฉบับนี้เหมือนการเซ็นเช็คเปล่าให้ รมต.กระทรวงมหาดไทย เปิดช่องให้เขียนหลักเกณฑ์ลงไป โดยที่ไม่มีใครเห็นว่ามีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะควบคุมประชาชนจะทำกิจกรรมอะไรก็ตามในราชอาณาจักร ต้องจดแจ้ง ถ้าไม่อนุญาตก็ทำไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงคือประชาชนจะเป็นผู้ที่จะได้กระทบมากที่สุด หากมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม อาจจะโดนบทลงโทษได้ เหมือนมัดมือ มัดเท้า ปิดปากประชาชน เป็นการตั้งใจ จำกัดการเคลื่อนไหวประชาชนที่จะคัดค้านนโยบายของภาครัฐ และหนักไปถึง การกำจัด ไม่ใช่การส่งเสริมหรือพัฒนาแบบที่อ้างไว้แต่อย่างใด " นางสาวรสนา กล่าว
 

    นางรสนา กล่าวว่า ภาคประชาสังคม จะคัดค้านไม่ให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างถึงที่สุด โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 ระบุให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่เปิดโอกาสให้การกระทำนี้เกิดขึ้นได้ หากรัฐคิดว่าภาคประชาสังคม มีจิตคิดชั่ว อยากทำลายประเทศชาติด้วยการขอเงินต่างชาติมาว่าร้ายประเทศ ก็ต้องจัดการคนกลุ่มนั้นด้วยกฎหมายที่มี เพราะกฎหมายให้อำนาจรัฐจัดการผู้ทำผิดหลักนิติธรรม ศีลธรรม ไม่ใช่ออกกฎหมายตีขลุมมากำกับไม่ให้ทุกคนทำกิจกรรมที่คัดค้านนโยบายของรัฐ
 


    นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ อนุกรรมการด้านการศึกษาและพัฒนากฎหมายฯ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวว่า การที่ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของภาคประชาสังคมอย่างไม่เหมาะสม ถือว่ารัฐบาลไทยดำเนินการขัดต่อข้อมติของสหประชาชาติ ที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองกิจกรรมของประชาสังคม รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมีการออกกฎหมายส่งเสริม สนับสนุน และให้ความคุ้มครองกิจกรรมของประชาสังคมภาคประชาสังคม เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สวีเดน สหรัฐอเมริกา
 


    ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะเป็นรองโฆษกฯ อยากทำความเข้าใจดังนี้ ร่างที่เป็นประเด็นคือ ร่างเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม แต่ยังมีร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาร่างประชาสังคม ซึ่งเป็นร่างที่ส่งเสริมภาคประชาสังคมทำงานกับภาครัฐอย่างเข็มแข็งขึ้น โดยร่างนี้จะมีกรรมการ และกรรมการจะให้ทางภาคประชาสังคมเข้าร่วม โดยการทำงานร่วมกันในการเสนอแนะ ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมการทำงานให้เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งกรณีมีสำนักงานเกิดขึ้นก็จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น อย่างปัจจุบันมีงบ 90 ล้านทั่วประเทศก็ไม่เพียงพอ แต่หากมีร่างกฎหมายนี้จะมีการจัดสรรงบเพิ่มให้ปีละ 150 ล้านบาท ทั้งนี้ ความกังวลเรื่องแทรกแซงนั้น หากจดแจ้งให้ถูกต้องโปร่งใสก็จบ และขณะนี้ กระบวนการขอกฎหมายยังไม่จบ ยังรับฟังเสียงและปรับแก้ได้

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here

Pages